นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 4 ของสาเหตุการเสียชีวิตของประชาการโลก เนื่องจากการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ นำไปสู่การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยพบว่า การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตทั่วโลก 3.2 ล้านคนต่อปี และคนไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสูงถึงร้อยละ 71 ของการเสียชีวิตทั้งหมด และจากการสำรวจการมีกิจกรรมทางกายของคนไทย โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2565 พบว่าประชากรไทย มีแนวโน้ม การมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระหว่างปี 2563 พบว่าข้อมูลการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทย ปี 2564 มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 63.0 ซึ่งในปี 2565 ลดลงเป็น ร้อยละ 62.0 ชี้ให้เห็นได้ว่า ปัจจัยลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจและสังคม อันได้แก่ ช่วงวัย ระดับการศึกษา ความรอบรู้สุขภาพ มีอิทธิพลที่ส่งผลต่อระดับการมีกิจกรรมทางกายของประชากรไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการขับเคลื่อนประเด็นส่งเสริมสุขภาพกายโดย เชิญชวนประชาชนออกกำลังกายทุกวัน เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ร้อยละ 75 ในปี 2573 เพิ่มโอกาสให้ประชาชน มีกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง อย่างน้อย 150 - 300 นาที ต่อสัปดาห์ โดยเริ่มผลักดันและขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมสุขภาพกาย "ออกกำลังกายวันจันทร์มันส์เดย์" ใน 4 setting ได้แก่ สถานศึกษา องค์กรภาครัฐ สถานประกอบการและชุมชน โดยผลิตสื่อองค์ความรู้ วิดิทัศน์ด้านการมีกิจกรรมทางกาย และออกกำลังกายทุกกลุ่มวัย (เพลง Long Life…Thai Fit) รณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างกระแส และสื่อสารสร้างการรับรู้ความรอบรู้สุขภาพการมีกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายทาง Social ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มก้าวท้าใจ ส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ผ่าน E-learning ในดิจิทัลแพลตฟอร์มก้าวท้าใจ เพื่อส่งเสริมให้ประชากรไทยมีพฤติกรรมการออกกำลังกาย โดยสิ่งที่ประชาชนจะได้รับ ดังนี้ 1) มีรูปแบบการออกกำลังกายแบบใหม่เป็นทางเลือกให้ประชาชนออกกำลังกาย 2) มีเครื่องมือส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่ประชาชนสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยการส่งผลออกกำลังกาย สะสมแต้มสุขภาพ แลกของรางวัล 3) ประชาชนสามารถประเมินและติดตามภาวะอ้วนได้ด้วยตนเอง และ 4) มีสื่อความรอบรู้และองค์ความรู้ในการดูแลสุขภาพด้วยตนเอง
"นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้เปิดอาคารบ้านรื่นรมย์ เพื่อส่งเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุ (Caregiver) โดยมีห้องส่งเสริมสุขภาวะ (Wellness Room) ซึ่งจะแบ่งออก 2 โปรแกรม ได้แก่ 1) โปรแกรมฝึกฝนกิจวัตรประจำวันผู้สูงอายุ (ADL Training Program) 2) โปรแกรมเวชศาสตร์วิถีชีวิตผู้สูงอายุ (Elderly Lifestyle Progam) ซึ่งในภายอาคารยังมีห้องนันทนาการ (Main Room) สำหรับผู้สูงอายุในด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1) คัดกรองสุขภาพ (Health Station) 2) สูงวัยฟันดี 80 ปี 20 ซี่ 3) ฟื้นฟูสมรรนะทางกายและกล้ามเนื้อมัดเล็ก 4) เมนูชูสุขภาพ 5) เกมบริหารสมอง 6) ศิลปะ และดนตรีบำบัด และ 7) อาหารเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรงตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าว
ที่มา: กรมอนามัย