นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 รายการดังกล่าว เป็นการพัฒนาโดยนักวิจัยอาหารของสถาบันวิจัยอาหารชั้นนำของประเทศไทย นอกจากจะมีเป้าหมายในการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นให้มีการจับปลาอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนภาครัฐขับเคลื่อนเป้าหมายการลดปริมาณปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด ประกอบกับได้รับการยืนยันจากนักโภชนาการแล้วว่าเนื้อปลาชนิดนี้รับประทานได้ มีโปรตีนและคุณค่าทางอาหารไม่ต่างจากเนื้อปลาทั่วไป
"ซีพีเอฟ ยังให้การสนับสนุนนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่ง เพื่อศึกษาหาแนวทางหรือพัฒนานวัตกรรมสำหรับควบคุมประชากรปลาและหยุดยั้งการแพร่พันธุ์ในระยะยาว นอกเหนือจากการเร่งกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำโดยเร็วที่สุด" นายเปรมศักดิ์ กล่าว
นายเปรมศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า นักวิจัยอาหารได้ทำการศึกษาลักษณะทางกายภาพของปลาหมอคางดำทั้งเนื้อและกลิ่น รวมถึงพิจารณาเรื่องการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบอย่างคุ้มค่า วิธีการเก็บรักษาเนื้อปลาให้ได้นานขึ้น เพื่อความสะดวกในการนำไปต่อยอดเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและวัตถุดิบ เช่น ปลาร้า น้ำปลาร้า และปลาฟูจากปลาหมอคางดำ โดยเฉพาะปลาร้าที่สามารถเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปต่อเป็นน้ำปลาร้าต้มสุก ส่วนปลาฟูสามารถใช้เป็นวัตถุดิบหลักแปรรูปเป็นผงโรยข้าวรสชาติต่างๆ ได้
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่คัดเลือกมาในครั้งนี้มี 3 รายการ ทั้งผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบ คือ น้ำปลาร้าปรุงสุก ปลาฟู และผงโรยข้าวปรุงรสจากปลาฟู โดยน้ำปลาร้าปรุงสุก สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเมนูอาหารตามความนิยม ส่วนเนื้อปลาฟู สามารถนำไปต่อยอดเป็นกลุ่มน้ำพริกชนิดต่างๆ ได้ดี รวมถึงผงโรยข้าวแบบญี่ปุ่นปรุงรสตามชอบ ซึ่งสามารถนำไปทำเป็นเมนูอาหารในครัวเรือนและพัฒนาเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ตามความต้องการ
"เรามั่นใจว่าปลาหมอคางดำมีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารได้หลายเมนู โดยปรับรสชาติให้สอดคล้องกับความนิยมของผู้บริโภคและยังช่วยตอบโจทย์เป็นผลิตภัณฑ์อาหารสร้างรายได้ไม่ยาก ไม่ต้องลงทุนสูงกับเครื่องมือ ขั้นตอนการผลิตไม่ซับซ้อน เก็บได้นานที่อุณหภูมิห้อง ขนส่งสะดวก ไม่เปลืองพื้นที่เก็บ" นายเปรมศักดิ์ กล่าว
สำหรับสูตรผลิตภัณฑ์ปลาหมอคางดำ จะมีการนำไปจดอนุสิทธิบัตร เพื่อปกป้องความคิดสร้างสรรค์และนำไปต่อยอดในอนาคต โดยเฉพาะถ่ายทอดให้กับชุมชนนำไปสร้างรายได้ ช่วยเพิ่มความร่วมมือในการจับปลาซึ่งจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ และจะช่วยลดปริมาณการแพร่ระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำเป็น 1 ใน 5 โครงการเชิงรุกของซีพีเอฟ สอดคล้องตามนโยบายรัฐและกรมประมง ในการแก้ปัญหาการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง./
ที่มา: Charoen Pokphand Foods