ส่งออกไทยฟอร์มยังดี มีแรงหนุนสำคัญจากวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น

พฤหัส ๒๖ กันยายน ๒๕๖๗ ๑๑:๐๖
มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน ส.ค. 2024 ขยายตัวดีต่อเนื่องที่ 7%YOY
ส่งออกไทยฟอร์มยังดี มีแรงหนุนสำคัญจากวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น

มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยเดือน ส.ค. 2024 อยู่ที่ 26,182.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวดีที่ 7%YOY (เทียบกับช่วงเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า) และยังสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ (SCB EIC ประเมินไว้ 5.9% ขณะที่ Reuter Poll มีค่ากลางของการคาดการณ์อยู่ที่ 5.8%) โดยขยายตัวต่อเนื่องจาก 15.2%YOY ในเดือน ก.ค. ทำให้ภาพรวมมูลค่าการส่งออกไทย 8 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 197,192.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.2% (ตัวเลขระบบศุลกากร) (รูป 1)

ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวการส่งออกในเดือนนี้เป็นผลจาก (1) มูลค่าการส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบขยายตัวมากถึง 74.7% ต่อเนื่องจาก 82.6% ในเดือนก่อนหน้าจากความต้องการในตลาดโลกที่กลับมาฟื้นตัวตามวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น ปัจจัยนี้คิดเป็นสัดส่วน (Contribution to growth) ช่วยให้มูลค่าการส่งออกในเดือน ส.ค. ขยายตัวสูงได้ถึง 3.4% จากอัตราการเติบโตของการส่งออกเดือนนี้ที่ 7% (รูป 3) (2) มูลค่าการส่งออกยางพาราและข้าวที่ยังขยายตัวได้ดีที่ 64.6% และ 46.7% ตามลำดับ โดยมูลค่าการส่งออกข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการที่อินเดียมีนโยบายควบคุมการส่งออกข้าว ประกอบกับผู้นำเข้าข้าวมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณและราคาส่งออกข้าวปรับตัวเพิ่มขึ้น ทางด้านมูลค่าการส่งออกยางพาราขยายตัวจากราคาที่สูงขึ้นตามความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผลผลิตยางพาราในไทยและอินโดนีเซียก็ลดลง ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นผู้ส่งออกยางพาราหลักของโลก มีส่วนช่วยให้มูลค่าการส่งออกในเดือน ส.ค. ขยายตัวได้ถึง 1.5% และ (3) การส่งออกทองคำที่ขยายตัวมากถึง 99% มีส่วนช่วยให้มูลค่าการส่งออกในเดือน ส.ค. ขยายตัวได้ถึง 1.3% (รูป 3)

ในการวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่า หากพิจารณาสินค้าส่งออกรายหมวด การส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวได้ดีที่ 17.5% โดยเฉพาะข้าวและยางพารา การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 17.1% โดยเฉพาะไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (รวมสินค้าแร่และเชื้อเพลิง) ขยายตัว 5.2% โดยเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ทองคำ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง และอัญมณีและเครื่องประดับหักทองขยายตัวได้ดี[1]

สำหรับการส่งออกรายตลาดสำคัญพบว่าตลาดสวิตเซอร์แลนด์สามารถขยายตัวได้ 175.1% (SCB EIC ประเมินเบื้องต้นว่าขยายตัวได้ดีจากการส่งออกทองคำ ซึ่งราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา) ตลาดตะวันออกกลาง 34.6% และสหภาพยุโรป 26.4% ตามด้วยเอเชียใต้ แอฟริกา ลาตินอเมริกา CLMV รัสเซียและกลุ่ม CIS จีน และอาเซียน 5 ตามลำดับ

ดุลการค้าไทยพลิกกลับมาขยายตัวเหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์จากการส่งออกที่ขยายตัวดีกว่าคาด ขณะที่การนำเข้าขยายตัวน้อยกว่าคาด

มูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน ส.ค. อยู่ที่ 25,917.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 8.9% (SCB EIC ประเมินไว้ 10.5% ขณะที่ Reuter Poll มีค่ากลางของการคาดการณ์อยู่ที่ 7.3%) โดยการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้าเชื้อเพลิง และสินค้าทุนขยายตัวได้ดีที่ 16.2% 13.4% และ 7.2% ตามลำดับ การนำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งหดตัวรุนแรงน้อยลงอยู่ที่ -23.8% จาก -45.1% ในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคพลิกกลับมาหดตัวที่ -0.8% (รูปที่ 2) ทำให้ดุลการค้าระบบศุลกากรในเดือนนี้เกินดุล 264.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สวนทางที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ว่าจะขาดดุล (SCB EIC ประเมินไว้ -380 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ Reuter Poll มีค่ากลางของการคาดการณ์อยู่ที่ -70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จากมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวมากกว่าคาด ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวน้อยกว่าคาด สำหรับภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2024 ดุลการค้าไทยยังคงขาดดุล -6,351 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

SCB EIC ประเมินแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปียังขยายตัวได้

SCB EIC ประเมินมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยจะสามารถขยายตัวได้ที่ 2.6% ในปี 2024 (ณ เดือน ก.ย. ตัวเลขระบบดุลการชำระเงิน) อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกที่ผ่านมาในเดือน ก.ค. และ ส.ค. ขยายตัวดีต่อเนื่องและสูงกว่าที่SCB EIC คาดการณ์ไว้และสูงกว่ามุมมองตลาดมาก[2] นอกจากนี้ การส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ในระยะถัดไปจากเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวได้ในภาพรวม แม้จะชะลอตัวลงบ้างในหลายประเทศ รวมถึงวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขาขึ้น และแรงกดดันด้านค่าระวางเรือที่เริ่มลดลง ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในปี 2024 อาจขยายตัวได้มากกว่าประมาณการเดิมที่ 2.6% แต่ต้องจับตาผลกระทบเพิ่มเติมจากปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของไทย การแข็งค่าของเงินบาท และการยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวของอินเดีย

ในระยะสั้นมูลค่าส่งออกอาจขยายตัวดีกว่าคาด แต่ปีหน้าจะขยายได้ไม่สูงนัก

อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยที่ 2.6% และ 2.8% ในปี 2024 และ 2025 ยังถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2010-2019 ที่ 5.3% (รูปที่ 4 ซ้าย) สะท้อนถึงความท้าทายอย่างต่อเนื่องในการฟื้นฟูแรงขับเคลื่อน
ของการส่งออกของไทยจากความสามารถในการแข่งขันของไทยที่น้อยลง และปัญหาเชิงโครงสร้างที่ค่อนข้างล้าหลัง โดยเมื่อพิจารณารายละเอียดในรายผลิตภัณฑ์ส่งออกหลักของไทย 13 รายการ ซึ่งคิดเป็น 76% ของการส่งออกรวม พบว่ามีเพียง 2 รายการเท่านั้น (อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกล และผลไม้) ที่เติบโตได้สูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของโลกในช่วงปี 2019-2023 ขณะที่อีก 11 รายการที่เหลือโตช้ากว่าค่าเฉลี่ยของโลก (รูปที่ 4 ขวา) รวมถึงปัญหาภายนอกประเทศที่จะกดดันการส่งออกไทยทั้งจาก (1) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ จากสงครามที่ยังคงยืดเยื้อ การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น หรือมาตรการกีดกันการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น (2) ปัญหา China overcapacity ที่อาจซ้ำเติมปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขันของไทย ทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีนลดลง (3) ค่าระวางเรือ (ค่าขนส่ง) ที่อาจจะกลับมาสูงขึ้นได้ จากสงครามที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงขึ้น รวมถึงปัญหาการขาดแคลนเรือขนส่งและตู้คอนเทนเนอร์ และ (4) ผลเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนในยโนบายการเก็บภาษีสินค้านำเข้าทุกประเภทจากทุกประเทศเพิ่มเติม

[1] ในเดือนนี้ SCB EIC ไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลการส่งออกสินค้ารายกลุ่มสินค้าและรายตลาดโดยละเอียดได้ เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ได้ทำการปรับปรุงฐานข้อมูลการส่งออกใหม่

[2] สะท้อนจากตัวเลขคาดการณ์สูงสุดใน Reuter Poll ที่ 6% และ 6.4% ตามลำดับ

ที่มา: ธนาคารไทยพาณิชย์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version