นายกอบศักดิ์ เกตุเหมือน ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชมีการสำรวจปริมาณปลาอย่างต่อเนื่อง โดยพบปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติลดน้อยลง ล่าสุด พบเพียง 25 ตัวต่อ 100 ตารางเมตร ลดลงจากการสำรวจครั้งแรกที่พบ 60 ตัวต่อ 100 ตารางเมตร ทั้งนี้ จังหวัดยังบูรณาการกับทุกภาคส่วน ดำเนินมาตรการกำจัดปลาหมอคางดำต่อเนื่อง โดยการปล่อยปลาผู้ล่าลงแหล่งน้ำ และเน้นรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักรู้ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการบริโภคปลาชนิดนี้มากขึ้น
ในวันนี้ (25 กันยายน 2567) จังหวัดนครศรีธรรมราช ดำเนินการปล่อยปลาผู้ล่าเป็นครั้งแรก ในพื้นที่อำเภอปากพนัง หลังทำการจับปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ออกจากแหล่งน้ำ จนกระทั่งเหลือเพียงปลาขนาดเล็กในปริมาณน้อยลงแล้ว โดยประมงจังหวัดได้รับการสนับสนุนปลากะพงขาวขนาด 4 นิ้ว จำนวน 4,000 ตัวจากซีพีเอฟ เพื่อปล่อยลงแหล่งน้ำ การปล่อยปลาผู้ล่าเป็นวิธีการควบคุมประชากรปลาหมอคางดำแบบชีววิธี ซึ่งได้รับการยอมรับในหลายประเทศว่า เป็นวิธีกำจัดปลาหมอคางดำขนาดเล็ก และเป็นมิตรต่อระบบนิเวศในระยะยาว นายกอบศักดิ์ กล่าวต่อว่า ประมงนครศรีธรรมราชยังร่วมมือกับทางจังหวัด และโรงแรมทวินโลตัส นครศรีธรรมราช จัดกิจกรรมประกวด "ค้นหาสุดยอดเมนูปลาหมอคางดำ" โดยมีชาวชุมชน 10 หมู่บ้านส่งเมนูอาหารและเชฟจากโรงแรมต่างๆ ในจังหวัด ส่งเมนูเข้าประกวดรวม 14 เมนู อาทิ ฉู่ฉี่ ต้มแซ่บ ทอดมัน ลุยสวน แซนวิช เป็นต้น โดยโรงแรมจะนำเมนูที่ชนะการประกวด บรรจุในรายการอาหารของโรงแรม เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้รับประทานสะดวกขึ้น
ด้านจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายธัชชัย อุบลไพศาล ประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สถานการณ์ปลาหมอคางดำในจังหวัดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากการระดมพลังจากทุกภาคส่วน จัดกิจกรรม "ลงแขกลงคลอง" มากกว่า 10 ครั้ง สามารถจับปลาหมอคางดำตัวโตออกจากแหล่งน้ำได้มากที่สุด และในวันนี้ได้ปล่อยปลากะพงขาวในลำคลอง 2 จุด ซึ่งเป็นการปล่อยปลาผู้ล่าเป็นครั้งแรก เพื่อให้ช่วยจับกินปลาตัวเล็กๆ ที่อยู่ในแหล่งน้ำ โดยปลาผู้ล่าที่ปล่อยในวันนี้รวม 4,000 ตัว ได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟ ประมงสุราษฎร์ธานี ยังดำเนินมาตรการกำจัดปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง โดยจัดหาอุปกรณ์จับปลาให้เพียงพอสำหรับการส่งเสริมชุมชนในการช่วยกันจับปลาตัวนี้ขึ้นมาได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องรอการจัดกิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่ และผู้นำชุมชนช่วยรับซื้อปลาหมอคางดำ นำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ "ปลาแดดเดียว" ซึ่งเป็นอีกแนวทางที่ช่วยส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้ชุมชน และควบคุมจำนวนปลาควบคู่กัน
ด้าน นายนพดล จินดาพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ศูนย์วิจัยฯ ได้สำรวจปริมาณปลาในแหล่งน้ำมาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้พบว่า ปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติมีจำนวนเบาบางลง และระบบนิเวศในสุราษฎร์ธานียังมีความสมดุลในระดับที่ดี เพราะยังพบปลาพื้นถิ่นอยู่ในแหล่งน้ำ รวมทั้งปลาผู้ล่าในธรรมชาติ เช่น ปลาอีกง มีส่วนช่วยควบคุมจำนวนปลาหมอคางดำได้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ ยังคงติดตามสำรวจปลาหมอคางดำอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและทุกภาคส่วนว่ามาตรการกำจัดปลาหมอคางดำมีประสิทธิผล สามารถปกป้องระบบนิเวศในแหล่งน้ำของจังหวัดให้มีความสมดุลในระยะยาว
นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังได้ร่วมสนับสนุนปลากะพงขาว 2,000 ตัว แก่ประมงจังหวัดสงขลา เพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำในพื้นที่อำเภอระโนด ช่วยควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำต่อไป ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนปลาผู้ล่าให้แก่กรมประมงปล่อยลงสู่แหล่งน้ำรวม 200,000 ตัว จนถึงวันนี้ บริษัทได้ส่งมอบปลาผู้ล่าให้แก่กรมประมงไปแล้ว รวม 90,000 ตัว โดยนำไปปล่อยลงสู่แหล่งน้ำในจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ระยอง จันทบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสงขลา ทั้งนี้ บริษัทยังคงเดินหน้าสนับสนุนกรมประมงในขับเคลื่อนมาตรการเร่งกำจัดปลาหมอคางดำ ทั้ง การร่วมรับซื้อปลาเพื่อผลิตเป็นปลาป่น และสนับสนุนการจัดกิจกรรมการจับปลาในทุกพื้นที่ เพื่อร่วมกันลดปริมาณปลาหมอคางดำในทุกพื้นที่ให้มากที่สุด
ที่มา: Charoen Pokphand Foods