CEA และ เพชรบุรี อวด 'ของดี' เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหารขององค์การยูเนสโก
นายพิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า "CEA ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก เล็งเห็นความโดดเด่นของการใช้สินทรัพย์ท้องถิ่น มาสร้างโอกาสให้เห็นถึงการต่อยอดและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ผ่านการใช้กระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ซึ่งเพชรบุรีเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร (Creative City of Gastronomy) ในเครือข่ายองค์การยูเนสโกเราจึงให้การสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพในส่วนนี้ โดยเราทำงานร่วมกับจังหวัด เซฟและผู้ประกอบการท้องถิ่น ในการชูเอกลักษณ์ของอาหารเพชรบุรีผ่านงาน "รสเพ็ดรี สุกี้สายพาน" ตอน "รสเพ็ดรี มีดีอยากอวดดดด"ผ่านการนำเสนอวัตถุดิบและอาหารท้องถิ่น ที่ผู้เข้าร่วม จะได้สัมผัสรสเพ็ดรี ในรูปแบบการกินที่ร่วมสมัยอย่างสายพาน พร้อมเมนูที่รังสรรค์ขึ้นใหม่ในสไตล์เชฟเทเบิ้ล สะท้อนศักยภาพของเพชรบุรีในการเป็นเมืองอาหาร ที่พร้อมสร้างมูลค่าให้กับวัตถุดิบท้องถิ่นและโอกาสใหม่ในด้านการท่องเที่ยวและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของเพชรบุรี เพื่อให้เพชรบุรีเป็นที่รู้จักในฐานะ "ครัวของโลก"
จากวัตถุดิบสู่จินตนาการ: เมื่อเพชรบุรีถูกรังสรรค์ใหม่บนสายพานแห่งรสชาติ
ภายในงานเป็นการเปิดประสบการณ์การชิมรสอาหาร ชมวัตถุดิบ พร้อมเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์และอาหารท้องถิ่นของเพชรบุรี เสมือนกับได้ท่องเที่ยวทั่วทั้งจังหวัดผ่านมุมมองด้านอาหาร ภายใต้คอนเซ็ปต์ "รสเพ็ดรี มีดีอยากอวดดดด" ใน 4 มิติที่น่าสนใจ ได้แก่ "อวดดี" โชว์ผลผลิตทางภูมิศาสตร์และวัตถุดิบท้องถิ่นที่หลากหลาย "อวดเก่ง" นำเสนอวัฒนธรรมภูมิปัญญาจากหลากหลายชาติพันธุ์ "อวดฉลาด" ต่อยอดวัฒนธรรมด้านอาหารเชิงสร้างสรรค์ที่สะท้อนความทันสมัย และ "อวดรวย" ที่ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งหมดถูกนำเสนอผ่านสุกี้สายพาน ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมการกินดั้งเดิมกับความร่วมสมัยให้ผู้ชมได้สัมผัสกับประสบการณ์การรับประทานอาหารที่แปลกใหม่และน่าตื่นเต้น โดยการรังสรรค์ของ กิจณรงค์ จันทร์ปลูก (เชฟเปอร์โยต์) เจ้าของร้านรัญจวนใจ และ แพร-พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ Food Curator เจ้าของเพจ Pear Is Hungry
เชฟเปอร์โยต์ กิจณรงค์ จันทร์ปลูก เจ้าของร้านอาหาร "รัญจวนใจ" ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการรังสรรค์เมนูในงานรสเพ็ดรี สุกี้สายพานว่า "เพชรบุรียังมีอะไรอีกมากมายที่หลายคนยังไม่เคยสัมผัส รวมถึงวัตถุดิบลับที่ซ่อนอยู่ ผมจึงเลือกนำวัตถุดิบเหล่านั้นมาสร้างสรรค์เมนูที่ถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตประจำวันอันเป็นเอกลักษณ์ของคนเมืองเพชร ผ่านเมนูอาหารทั้ง 7 คอร์สในรูปแบบสายพาน เราตีความและปรับรสชาติในแต่ละจานให้เชื่อมโยงกับวัตถุดิบท้องถิ่น พร้อมสะท้อนวิถีชีวิตในมุมมองที่ทันสมัย เพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสอาหารเพชรบุรีในแบบที่แตกต่างออกไป สำหรับเมนูพิเศษครั้งนี้ไม่เพียงแต่นำเสนอรสชาติที่กลมกล่อม แต่ยังเปิดมิติใหม่ของประสบการณ์การรับประทานอาหารเมืองเพชร ให้ผู้มาเยือนได้ลิ้มรสความสดใหม่ของวัตถุดิบคุณภาพสูง พร้อมดื่มด่ำกับเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในทุกจาน ซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและเรื่องราวของเพชรบุรีในมุมมองที่แปลกใหม่และน่าสนใจ"
ด้านคุณแพร พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ Food Curator ผู้เชี่ยวชาญในการนำเสนออาหารในรูปแบบใหม่และทันสมัย ได้กล่าวเสริมถึงนิทรรศการว่า "นิทรรศการกินได้ครั้งนี้คือการเดินทางแห่งการค้นพบ เราทุกคนตั้งใจนำเสนอเรื่องราวล้ำค่าของเพชรบุรีที่อาจถูกหลงลืมตามกาลเวลา นำมาถ่ายทอดผ่านรสชาติและวัตถุดิบท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ ในรูปแบบที่แปลกใหม่และทันสมัย สุกี้สายพานในงานนี้จึงไม่ใช่แค่การรับประทานอาหาร แต่เป็นการร้อยเรียงเรื่องราวของเพชรบุรีผ่านวัตถุดิบท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเราตีความใหม่เพื่อให้สามารถต่อยอดในเชิงธุรกิจได้อย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ยังช่วยให้ผู้คนรู้จักเพชรบุรีมากขึ้น พร้อมแสดงศักยภาพของจังหวัดในการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านอาหารและวัตถุดิบท้องถิ่น"
"สิ่งที่เรานำเสนอเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของความอุดมสมบูรณ์ในเพชรบุรี ยังมีของดีอีกมากมายที่รอการค้นพบและต่อยอดในเชิงสร้างสรรค์ เพชรบุรียังคงเป็นขุมทรัพย์แห่งโอกาสที่รอให้เราได้สำรวจต่อไป" คุณแพรกล่าวสรุป
เปิด 7 เมนูชูเสน่ห์ "รสเพ็ดรี มีดีอยากอวดดดด"
นิทรรศการ "รสเพ็ดรี สุกี้สายพาน" พาผู้เข้าร่วมงานสัมผัสประสบการณ์ของโลกแห่งรสชาติอันหลากหลายของเพชรบุรี ผ่านการนำเสนอ 7 เมนูพิเศษที่รังสรรค์ขึ้นจากวัตถุดิบท้องถิ่นคุณภาพเยี่ยม ผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมเข้ากับนวัตกรรมสมัยใหม่อย่างลงตัว
เริ่มต้นด้วย ข้าวแกงเพชรบุรี จานเปิดฉากที่นำเสนอความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นผ่านข้าวมันหุงกะทิแบบโบราณ เสิร์ฟคู่กับปลานิลแดดเดียวและยำมะม่วงโบราณ ผสานความสมดุลระหว่างความเค็มมันและความสดชื่นจากวัตถุดิบท้องถิ่นได้อย่างลงตัว
ตามด้วย ฮอตพอตซุปต้มพุงเนื้อ/หมู ชูวิธีการปรุงที่น่าทึ่งด้วยการใช้เพียงดอกเกลือจากบ้านแหลม ให้ได้สัมผัสรสชาติของวัตถุดิบท้องถิ่นที่กลมกล่อม เสริมด้วยความเผ็ดซ่าของพริกกะเหรี่ยงดอง สร้างมิติรสชาติที่ซับซ้อนให้น้ำซุปให้โดดเด่นยิ่งขึ้น
คั่นด้วย สภากาแฟยามเช้ากับแครกเกอร์ครีมซอสโอเลี้ยง เป็นการผสมผสานระหว่างขนมชาววังและซอสคาราเมลโอเลี้ยง เสิร์ฟความหวานละมุนที่แปลกใหม่ สะท้อนถึงการตีความวัฒนธรรมการดื่มกาแฟยามเช้าในบริบทร่วมสมัย
ต่อด้วย ฮอตพอตเกาเหลาน้ำแดง เมนูก๋วยเตี๋ยวน้ำแดง DIY ที่ให้ผู้ร่วมงานสัมผัสวิธีการปรุงแบบดั้งเดิมด้วยซีอิ๊วยงไทยและซอสพริกท้องถิ่น ซึ่งเป็นการนำเสนอความเลื่องชื่อของอาหารเพชรบุรีในรูปแบบที่ร่วมสมัย
ตามด้วย ข้าวแช่เพชรบุรี จากร้านป้าเอื้อน ที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านวิธีการรับประทานข้าวแช่แบบเพชรบุรีแท้ ที่ต้องแยกข้าวและเครื่องเคียง เพื่อคงรสชาติและความสดชื่นของของน้ำข้าวได้อย่างยอดเยี่ยม
เมนูถัดมา ฮอตพอตซุปปูม้า เป็นจานที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของทะเลเพชรบุรี ผ่านวัตถุดิบสดใหม่ ทั้งปูม้า เส้นสดใบชะคราม และสาหร่ายท้องถิ่น นำเสนอรสชาติที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของท้องทะเลบ้านเกิด
ปิดท้ายรสเพ็ดรี สุกี้สายพาน ด้วยไอศกรีมขนมตาลกับครัมเบิ้ลทองม้วนตาลโตนด ของหวานที่โดดเด่นด้วยไอศกรีมเนื้อนุ่มรสละมุนจากตาลโตนด เสริมด้วยครัมเบิ้ลทองม้วนน้ำตาลโตนดกรุบกรอบ ผสมเนื้อขนมตาล ให้จานนี้มีสัมผัสที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
นิทรรศการ "รสเพ็ดรี สุกี้สายพาน" ไม่เพียงแต่นำเสนอความอร่อยของอาหาร แต่ยังเปิดประตูสู่การเรียนรู้วัฒนธรรมและความหลากหลายของวัตถุดิบท้องถิ่นคุณภาพเยี่ยม เช่น น้ำตาลโตนด ดอกเกลือจากบ้านแหลม ผักกูด ใบชะคราม พริกพราน รวมถึงผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างซีอิ๊วยงไทย และทองม้วนน้ำตาลโตนด ที่ไม่เพียงสร้างรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ แต่ยังส่งเสริมและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นไปพร้อมกัน
"เราเชื่อว่าการจัดงาน "รสเพ็ดรี สุกี้สายพาน" ครั้งนี้จะช่วยยกระดับการรับรู้ของประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ ให้เห็นว่าเพชรบุรี "มีดี" ไม่เพียงแค่วัตถุดิบและรสชาติที่ยอดเยี่ยม แต่ยังสามารถนำ "ของดี" เหล่านี้มาต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอาหารและเศรษฐกิจท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน เราหวังว่านิทรรศการนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเศรษฐกิจด้านอาหารของเพชรบุรี และเป็นอีกก้าวสำคัญที่ทำให้เพชรบุรีก้าวเข้าสู่เวทีระดับโลกในฐานะเมืองอาหารที่ทันสมัย" นายพิชิต กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: BOW