โดยกลุ่มตัวแทนชมรมกลุ่มโรคเรื้อรัง และประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้เล็งเห็นความสำคัญ และความเร่งด่วน ในเรื่องการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทั้งต่อการรับรู้ข่าวสุขภาพ และการป้องกันโรคโควิด 19 โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 จึงได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้พิจารณาข้อเรียกร้องสำคัญ ได้แก่
- เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนให้ความรู้เรื่องโรคโควิด 19 กับสังคมอย่างถูกต้อง โดยการจัดการและกระจายความรู้ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น สื่อออนไลน์ทางการ และโซเชียลมีเดีย ซึ่งต้องมีการตรวจสอบและอ้างอิงจากแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้
- เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนช่องทางการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่น่าเชื่อถือ เช่น เว็บไซต์ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข หรือแพลตฟอร์มและประกาศข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคโควิด 19 ที่มีการจัดการโดยภาครัฐ หรือสภาวิชาชีพการแพทย์
- เสนอให้ภาครัฐให้ความสำคัญในการเพิ่มสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโควิด 19 ด้วยวัคซีนในกลุ่มเปราะบาง 608 อาทิ ผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน โดยให้กับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน ได้รับวัคซีนไม่ครบ และไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือ ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมานานเกิน 3 เดือน เป็นไปตามคำแนะนำของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น
ตัวแทนประชาชนในกลุ่มเสี่ยง นางสาวไอรีล ไตรสารศรี ผู้ก่อตั้ง อาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ บาย ไอรีล กล่าวว่า "ในช่วงหลายปีของการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 นับเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างยากลำบากของผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอกว่าคนปกติ และมีความเสี่ยงในการติดเชื้อแทรกซ้อนต่าง ๆ รวมถึงเชื้อ โควิด 19 โดยส่วนมากพบกับปัญหาถูกเลื่อนการผ่าตัด หรือแพทย์ทำการเปลี่ยนแผนการรักษา รวมถึงการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ซึ่งสิ่งที่อยากให้กระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา คือ อยากให้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งจัดระบบการให้บริการทางการแพทย์ หรือวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ให้เพียงพอต่อความต้องการและเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ให้ครอบคลุมในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ประชาชนในกลุ่มเสี่ยง และในกลุ่ม 608 ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบาง เป็นกลุ่มคนที่ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิค 19 มากที่สุด สำหรับอีกเรื่อง คือ การสื่อสาร และให้ความรู้ในเรื่องของโรคโควิด 19 อย่างถูกต้อง ชัดเจน ในหลาย ๆ ช่องทาง เพื่อให้เข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด โดยต้องเป็นข้อมูลที่มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ เนื่องจากปัจจุบัน ข้อมูลเท็จ หรือ ข่าวปลอม มีแพร่กระจายให้เห็นมากมายบนโลกสังคมออนไลน์ โดยมีเจตนาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อน และบิดเบือน ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อระบบสาธารณสุข และการรักษา การดูแลตนเองของผู้ป่วยได้"
ด้าน นางศุภลักษณ์ จตุเทวประสิทธิ์ ประธานชมรมเบาหวาน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อีกหนึ่งเสียงจากตัวแทนชมรมกลุ่มโรคเรื้อรัง เปิดเผยว่า "ผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงระดับต้น ๆ ของภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโรคโควิด 19 จะทำให้ผู้ป่วยมีไข้เฉียบพลัน เกิดภาวะขาดน้ำ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีอัตราการเสียชีวิตที่มากขึ้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีนโควิด 19 อย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ผู้ป่วยควรทราบวิธีการดูแลตนเองอย่างเหมาะสมและถูกต้อง แต่ด้วยปัจจุบันมีช่องทางมากมายให้เราได้สื่อสาร ข้อมูลมีมากขึ้นไหลผ่านกันรวดเร็ว ทั้งที่เป็นประโยชน์ และยังมีเนื้อหาที่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว เนื้อหาที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด ข้อมูลไม่ถูกต้อง ซึ่งถือเป็นข้อมูลเท็จที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งสังคม และบุคคลในวงกว้าง โดยเฉพาะข่าว หรือข้อมูลที่เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด 19 ซึ่งหากไม่ถูกต้อง อาจส่งผลเสียต่อการรักษา และชีวิตของผู้ป่วยได้ สำหรับข้อเสนอที่อยากให้กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญ คือ การจัดการนำเสนอข่าวสารอย่างมีระบบ มีหน่วยงานที่น่าเชื่อถือเป็นผู้กระจายข่าว รวมถึงให้ความสำคัญของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กลุ่ม 608 และประชาชนกลุ่มเสี่ยง"
ที่มา: ไมนด์ ทัช