บพข. ร่วมเวทีเสวนา ท่องเที่ยวยุคใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในงาน TRIUP Fair 2024

ศุกร์ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๗ ๑๖:๒๒
แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เข้าร่วมเสวนา TRIUP Talk ท่องเที่ยวยุคใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน มีความเข้าใจและมีความพร้อมในการปรับตัวนำเสนอการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่ตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวในยุคปัจจุบันและอนาคต รวมถึงสนับสนุนให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดการท่องเที่ยวโลกอย่างยั่งยืน ในงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม 2567 (TRIUP FAIR 2024) ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน
บพข. ร่วมเวทีเสวนา ท่องเที่ยวยุคใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในงาน TRIUP Fair 2024

ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยเตรียมออกกฎหมายคาร์บอนเครดิตภาคบังคับ ในขณะเดียวกันทางด้านยุโรปออกกฎหมายที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีข้อกำหนดสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหมดในสหภาพยุโรป จะต้องมีรายงาน ESG โดย EU Green Claim Directive อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการรายงานผลการทำงานร่วมกับซัพพลายเชน (Supply Chain) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้หรือไม่ และแผนการดำเนินงานในอนาคตจะนำธุรกิจไปสู่การจัดการห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain) ได้อย่างไร และในอีก 2 ปีข้างหน้าจะขยายข้อกำหนดให้ครอบคลุมธุรกิจทุกขนาด

ในด้านการตลาด หากประเทศไหนไม่ทำเรื่องการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต ตลาดยุโรป จะกังวลในการส่งนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศนั้น ๆ ดังนั้นทุกประเทศเริ่มเตรียมความพร้อมเข้าสู่การท่องเที่ยวแนวใหม่ แสดงให้เห็นความตั้งใจและมีแผนการดำเนินงานให้เห็นชัดเจน สอดคล้องกับกฎหมาย EU Green Claim Directive เพื่อดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพ ซึ่งมีความต้องการด้านบริการสินค้าและมาตรฐานที่สูงขึ้น และต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ESG แสดงให้เห็นว่าตลาดโลกกำลังก้าวไปสู่คุณภาพที่เน้นความยั่งยืน ESG และการท่องเที่ยวไทยจะไม่ก้าวไปได้อย่างไร

ทั้งนี้ ดร.วีระศักดิ์ ได้เสนอแนะองค์ประกอบการดำเนินการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้ประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคต ดังนี้ 1) ออกแบบวิธีการวัดและเครื่องมือชี้วัด 2) รัฐบาลต้องออกกฎระเบียบ 3) การทำการเงินสีเขียว (Green Finance) และ 4) การเชื่อมโยงขนส่งนักท่องเที่ยวทางรางและทางเรือ

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานคณะอนุกรรมการแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนองค์ความรู้ทางการวิจัย เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ผ่านการบริหารจัดการของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) เริ่มจากการพัฒนาเครื่องมือ PCR บริการท่องเที่ยวผ่านการกรอกข้อมูลบนโปรแกรม Excel ต่อมาได้พัฒนาเป็นZero Carbon Application ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความสะดวกสบายต่อการใช้งาน อีกทั้งโปรแกรมนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 50,000 บาท ต่อ แพ็กเกจ/โปรแกรม/เส้นทาง โดยมี สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) พัฒนา 183 แพ็กเกจ/โปรแกรม/เส้นทาง ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสามารถขายได้จริง ซึ่งทำงานร่วมกับเครือข่ายนักวิจัย 20 มหาวิทยาลัย นักวิจัยราว 200 ท่าน

ขณะนี้ แผนงานฯ ได้ขยับจากจุดเริ่มต้น การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ไปสู่ Net Zero Tourism ร่วมกับเครือข่ายตลอดห่วงโซ่อุปทานทางการท่องเที่ยว 4 กระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม / กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา / กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม / กระทรวงการต่างประเทศ จาก 14 หน่วยงาน ได้แก่ สกสว. / บพข. / ททท. / อพท. / สสปน. / อบก. / หอการค้าไทย / TEATA / กรมการท่องเที่ยว / กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ / กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม / ATTA / THA / TICA ซึ่งได้ประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวที่มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 ทั้งนี้ในการเข้าสู่ Net Zero Tourism การดำเนินงานในปี 2567 จะต้องมีการทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในระดับองค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) ในภาคโรงแรมและธุรกิจขนาดเล็กประมาณ 10 ราย นอกจากนี้ยังได้จัดทำ Road Map แผนการดำเนินงานปี 2568 - 2570 เพื่อมุ่งสู่การท่องเที่ยว Net Zero โดยในปี 2568 จะเป็นการจัดทำ CFO แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถประกาศเจตนารมณ์ในการเป็น Net Zero Destination ถัดมาในปี 2569 จัดทำ Action Plan และกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สุดท้ายในปี 2570 จัดทำรายงานประจำปีเพื่อขอรับการรับรอง Net Zero Pathway จาก อบก. ทั้งนี้ในฐานะภาคการท่องเที่ยวและภาควิชาการ พยายามที่จะศึกษากระบวนการและระเบียบวิธีการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์จากป่าชายเลน ปะการัง และสาหร่าย ซึ่งทาง อบก. ได้ทำในภาคป่าไม้ หรือที่เรียกกันว่า T-VER แล้ว โดยทั้งหมดนี้จะเป็นเป้าสำคัญที่จะกำลังเดินหน้าต่อไปในอีก 3 ปีข้างหน้า ผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้ประเทศไทยและโลกของเราเกิดการบริหารจัดการที่สมดุล ให้การท่องเที่ยวสามารถสร้างคุณค่าและคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนต่อไป

คุณธเนศ วรศรัณย์ ประธานคณะกรรมการท่องเที่ยวคุณภาพสูง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาคเอกชน ในฐานะหอการค้า โดยมีผู้ประกอบการประมาณ 150,000 ราย นำงานวิจัยแผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ไปใช้ประโยชน์ และช่วยกันกระจายข่าว เพื่อขยายผลทั้งในด้านของการทำธุรกิจและการทำตลาด ซึ่งทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ผ่านแนวคิด "โมเดลอารมณ์ดี มีความสุข Happy Model" กินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี และแบ่งปันสิ่งดีๆ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาสินค้าและบริการด้านท่องเที่ยวแต่ละพื้นที่ ยกระดับการท่องเที่ยวของไทยไปสู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูง ปัจจุบันแนวคิดดังกล่าวได้ถูกปรับใช้ในหลายจังหวัด เช่น มหาสารคาม, ขอนแก่น, พะเยา, สงขลา, ฉะเชิงเทรา, ลำปาง, กาญจนบุรี, ชุมพร (ชวนเที่ยวบ้านฉัน) ร่วมกับ TAG Thai นอกจากนี้ยังมีการทำโครงการ Hug Earth มาตรฐานสำหรับผู้ประกอบการโรงแรมที่มุ่งเน้นไปสู่การรักษ์โลก ในระยะที่ 1 มี โรงแรมที่ผ่านเกณฑ์การประเมินโครงการ Hug Earth จำนวน 52 โรงแรม และปีนี้คาดว่าจะขยายผลจำนวน 500 โรงแรม แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการหลายรายมีความตระหนักถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

หากภาคผู้ประกอบการสนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในแรกเริ่มไม่จำเป็นต้องทำอย่างสุดโต่ง แต่ค่อย ๆ เรียนรู้และฝึกฝนให้เห็นผลลัพธ์การลดต้นทุนของธุรกิจไปทีละระดับ ทั้งนี้แผนในอนาคต ภาคผู้ประกอบการควรเน้นไปที่การใช้โซล่าเซลล์ และผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ แต่ยังจำเป็นที่จะต้องอาศัยภาครัฐบาลเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานและงบประมาณต่อไป คุณธเนศกล่าวทิ้งท้าย

คุณปาริชาต สุนทรรักษ์ อุปนายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) เปิดเผยว่า ในช่วงแรกของการดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ยังไม่เป็นที่ยอมรับ เนื่องจากเข้าไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวให้มีความรักษ์โลกมากจนเกินไปทำให้การท่องเที่ยวนั้นไม่สนุก ดังนั้น TEATA จึงได้วางแผนปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินงานในคอนเซปต์ สนุกเต็มที่ ดีต่อโลก หมายถึง การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่ยังสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยวและคงความสนุกไว้เหมือนเดิม โดยเริ่มจากผู้ประกอบการต้องมีความรู้และความเข้าใจของการใช้เครื่องมือการวัด ลด และชดเชย จาก 4 แหล่งปล่อย (ที่พัก,การเดินทาง, อาหารและเครื่องดื่ม) โดย TEATA สามารถจัดโปรแกรมฝึกอบรม เปรียบเสมือนเป็นพี่เลี้ยงช่วยสอนและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ซึ่งการดำเนินงานคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์สามารถทำได้ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น และเมือง นอกจากนี้ TEATA ยังได้วางแผนกลยุทธ์ด้านการตลาดร่วมกับองค์กรทุกภาคส่วน ผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทั้งหน่วยงานในไทยและหน่วยงานระดับโลก เพื่อขยายผลการดำเนินงานและสื่อสารการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ไปตลาดนานาชาติ

คุณปาริชาต ได้กล่าวเสริมว่า TEATA ยังต้องการขยายฐาน Green the Mass ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ด้วยการสนับสนุนการพัฒนากิจกรรมและแพ็คเกจท่องเที่ยวลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวคุณภาพได้รับประสบการณ์อย่างแท้จริง

การท่องเที่ยวแนวใหม่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์นั้นส่งผลกระทบต่อทุกคน ไม่ใช่แค่ในด้านเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม การท่องเที่ยวที่ไม่ยั่งยืนอาจทำลายทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เราหวงแหน การเข้าใจและสนับสนุนการท่องเที่ยวแนวใหม่จะช่วยให้คุณเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาความสวยงามและคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมท้องถิ่น และความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไว้เพื่ออนาคตให้คงอยู่ต่อไป พร้อมสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่นักท่องเที่ยวและอยากมาเยือนซ้ำ

ที่มา: โมเดิร์นเทียร์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ