สสส. - ศวปถ.- กรมประชาสัมพันธ์ สานพลังภาคีเครือข่าย ยกระดับทิศทางกลไกประชาสัมพันธ์ เชื่อมประสารการทำงาน บูรณาการสื่อส่วนกลาง สื่อท้องถิ่นร่วมกับ ศปถ.จังหวัด เพื่อสร้างวัฒนธรรมขับขี่ปลอดภัย

จันทร์ ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗ ๑๕:๔๙
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย กรมประชาสัมพันธ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กลุ่ม Nudge Thailand (กลุ่มนักพฤติกรรมศาสตร์ประเทศไทย) ผู้แทนกลุ่มอาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้าน (อป.มช.) และภาคีเครือข่าย ร่วมแถลงข่าวปิดโครงการ "พัฒนาและสนับสนุนกลไกประชาสัมพันธ์เพื่อความปลอดภัยทางถนน" เพื่อขับเคลื่อนการทำงานคณะอนุกรรมการด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการใช้รถใช้ถนน ร่วมกับประชาสัมพันธ์จังหวัดและศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด (ศปถ.จ.)
สสส. - ศวปถ.- กรมประชาสัมพันธ์ สานพลังภาคีเครือข่าย ยกระดับทิศทางกลไกประชาสัมพันธ์ เชื่อมประสารการทำงาน บูรณาการสื่อส่วนกลาง สื่อท้องถิ่นร่วมกับ ศปถ.จังหวัด เพื่อสร้างวัฒนธรรมขับขี่ปลอดภัย

นางสาวชนิสา ชมศิลป์ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า "อุบัติเหตุทางถนน เป็นหนึ่งปัญหาสำคัญที่สร้างความสูญเสียทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และชีวิต การสูญเสียดังกล่าว สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี และประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนได้ตามเป้าหมายทศวรรษด้านความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2554 - 2563 ขององค์การอนามัยโลก และในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา สถานการณ์การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย มากถึง 17,379 คน คิดเป็นอัตราผู้เสียชีวิต 26.65 ซึ่งมากกว่าปี พ.ศ. 2564 (จำนวน 16,957 คน อัตราผู้เสียชีวิต 25.92) และมากกว่าร้อยละ 80 เกิดจากพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ รวมถึง อุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ตามแนวทางการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยจำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกันจากทุกภาคส่วน  คณะอนุกรรมการด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการใช้รถใช้ถนน จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ที่ 002/2555 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2555 เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ แนวทางและแผนงานเกี่ยวกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และถือเป็นกลไกสำคัญในการสื่อสาร สะท้อนความเสี่ยงไปกลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนส่วนกลางและระดับพื้นที่ รวมถึงสร้างการรับรู้ความเสี่ยงไปยังสาธารณชน

ทั้งนี้ กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ สสส. สนับสนุนการขับเคลื่อนงานโครงการพัฒนาและสนับสนุนกลไกประชาสัมพันธ์เพื่อความปลอดภัยทางถนนโดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนในการยกระดับกลไกการสร้างการรับรู้และวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างบูรณาการทั้งสื่อส่วนกลาง สื่อในพื้นที่นำร่อง และภาคีเครือข่าย จนเกิดข้อค้นพบสำคัญไปสู่การเชื่อมประสานการทำงานระหว่างประชาสัมพันธ์ สื่อท้องถิ่น และ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัดในการทำงานร่วมกัน เพื่อนำข้อมูลอุบัติเหตุในพื้นที่มาสื่อสารสร้างความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัยให้กับประชาชน ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่คณะอนุกรรมการด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนจะผลักดันในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยด้วยการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในการรณรงค์สื่อสารประชาสัมพันธ์ด้านความปลอดภัยทางถนนต่อไป"

การรณรงค์ประชาสัมพันธ์อุบัติเหตุทางถนนมักถูกเห็นในช่วงเทศกาลสำคัญอย่าง เทศกาลปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ แต่ในความเป็นจริง ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงเทศกาลใหญ่เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นทุกวัน มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเล็งเห็นความสำคัญในการขับเคลื่อน "ปฏิทินความเสี่ยง" สำหรับแต่ละจังหวัด เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีความเสี่ยงที่แตกต่างกันตามบริบทและกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ

บทบาทของสื่อกลางและสื่อท้องถิ่นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการกระจายข้อมูลเพื่อให้ประชาชนและกลุ่มเป้าหมายเข้าใจปัญหาความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน การใช้สื่อในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการใช้ "ปฏิทินความเสี่ยง" ในการสื่อสารเนื้อหาให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ จะช่วยสร้างความตระหนักรู้และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี การสร้างความตระหนักรู้ไม่สามารถทำได้โดยลำพัง คณะอนุกรรมการด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการใช้รถใช้ถนน ซึ่งรวมหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมงานด้านการสื่อสาร จึงจำเป็นต้องเป็นหัวหลักสำคัญในการกำหนดการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการประชาสัมพันธ์ประเด็นอุบัติเหตุทางถนน เพื่อเป็นการกระตุกเตือนว่าในแต่ละช่วงเวลา ในแต่ละพื้นที่มีการละเล่น และ ความเสี่ยงที่ไม่เหมือนกัน และ เมื่อกลับมาทบทวน แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ใยยุทธศาสตร์ที่ 4 เพื่อให้ทุกคนร่วมกันทำ เรื่องของการบูรณาการ จับมือกันไว้เพื่อสร้างโครงสร้างของทุกภาคส่วน ดังนั้น คำว่า"สื่อร่วมสมัย" จึงหมายถึงรวมถึงทั้งสื่อดั้งเดิม (โทรทัศน์, คน, วิทยุ) และสื่อสมัยใหม่ แต่ปัจจุบันสื่อดั้งเดิมเริ่มแผ่วลง ในขณะทีสื่อใหม่กำลังมีบทบาทในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในยุคปัจจุบัน กรมประชาสัมพันธ์ไม่ทิ้งสื่อดั้งเดิมแต่จะทำอย่างไรให้มีการขยายผลมากขึ้น และมีการสร้างสื่อ Social เข้ามาประยุกต์กับสื่อดั้งเดิมมากขึ้น พร้อมกับเตรียมรับมือกับความท้าทายที่ทำอย่างไรให้การประชาสัมพันธ์สามารถการสร้างการรับรู้ได้ผล สื่อจึงต้องปรับตัวให้ทันตามกระแสและบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป และจะเป็นว่าสื่อไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ถ้าอยากสำเร็จต้องจับมือ โดยเฉพาะภาคประชาชน นางสาวชนิสา กล่าว 

นายวิทยา จันทน์เสนะ ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า "การขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทยต้องอาศัยกลไกที่มีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงหน่วยงานราชการ เอกชน และภาคประชาสังคม โดยมีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เพื่อประสานงานและบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วน กลไกนี้มีความสำคัญในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการในการลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างมีประสิทธิภาพ

ความสำคัญของการสื่อสารประชาสัมพันธ์ไม่สามารถมองข้ามได้ เพราะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจะช่วยสร้างความตระหนักรู้และจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในสังคม โดยการให้ข้อมูลและการสื่อสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงที่นำไปสู่อุบัติเหตุ และการเสนอแนวทางการป้องกัน ซึ่งจะช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุและความสูญเสียที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ การใช้สื่อสมัยใหม่และการสร้างเครือข่ายในการสื่อสารเป็นกลไกสำคัญในการทำให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามกฎจราจร โดยเฉพาะการมุ่งเน้นไปที่การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องทำร่วมกันเพื่อให้ประเทศไทยมีความปลอดภัยในการเดินทางมากยิ่งขึ้น" นายวิทยา กล่าว

รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ ที่ปรึกษาสาขาการศึกษาและการเรียนรู้และ/หรือสุขภาพดิจิทัล สสส.กล่าวว่า พฤติกรรมการบริโภคสื่อสังคมของแต่ละ Generation นั้นมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับช่วงอายุ ประสบการณ์ เทคโนโลยีที่เติบโตมา และความนิยมในแพลตฟอร์มต่างๆ ตัวอย่างเช่น 1) GEN X จะสนใจและใช้สื่อ Facebook TikTok YouTube เพื่อรับชมในเนื้อหาการเงิน การลงทุน การพัฒนาตนเอง 2) GEN Y จะสนใจและใช้สื่อ Facebook YouTube Instagram TikTok Streaming เพื่อรับชมเนื้อหาการออกกำลังกาย อาหารสุขภาพหรือจัดบ้าน 3) GEN Z จะสนใจและใช้สื่อ YouTube Instagram TikTok เพื่อรับชมเนื้อหาคอนเทนต์พัฒนาตัวเอง การท่องเที่ยวที่ทำเงินได้ 

นอกจากนี้ การใช้อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) เพื่อสื่อสาร ในปัจจุบันเป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการสื่อสาร ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสื่อกลางที่ให้บุคคลทั่วไปมีส่วนร่วมสร้างและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่าง ๆ โดย อินฟลูเอนเซอร์นั้นจะเป็นคนผลิตคอนเทนต์ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งภาพถ่าย คลิปวิดีโอ บทความ ที่เกี่ยวกับเรื่องที่สนใจ ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย สร้างความน่าเชื่อถือ และเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คน

ดังนั้นในการจะออกแบบสื่อหรือผลิตสื่อที่โดนใจด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกและ           ความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้จริง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาพฤติกรรมการเสพสื่อในปัจจุบัน รวมไปถึงการใช้อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer )ของแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างเนื้อหาที่ดึงดูดความสนใจ และกระตุ้นให้ผู้คนมีส่วนร่วมในเนื้อหานั้นๆมากขึ้น และสุดท้ายการออกแบบสื่อในปัจจุบันต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย น่าสนใจและเผยแพร่ทางช่องทางที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย รศ.ดร.กุลทิพย์ กล่าว

นางอรพรรณ อ่อนด้วง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า "จังหวัดมหาสารคามได้มีความก้าวหน้าอย่างมากในการส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนผ่านแคมเปญการสื่อสารที่สร้างสรรค์และมุ่งเน้นชุมชน ซึ่งจังหวัดได้ใช้ช่องทางสื่อสารทั้งแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญ เช่น การสวมหมวกนิรภัย การขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และการดื่มแล้วขับ

หนึ่งในความสำเร็จที่สำคัญของจังหวัดคือแคมเปญวิดีโอไวรัล "ขี่ปุ๊บ สุบปั๊บ" ที่ส่งเสริมให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์สวมหมวกนิรภัยทันทีเมื่อขึ้นรถ ซึ่งวิดีโอสั้นนี้ได้รับความนิยมและสามารถสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ขับขี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการใช้คุณแม่และเด็กมาเป็น influencer เพื่อสื่อสารข้อความที่สำคัญ

นอกจากนี้ จังหวัดมหาสารคามยังได้เชื่อมโยงการสื่อสารกับวาระการรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100% โดยมุ่งเน้นไปที่เด็กและเยาวชน และมีการใช้ภาษาถิ่นในการจัดทำเนื้อหาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมชาติในการสื่อสาร โดยใช้ปฏิทินความเสี่ยงในการทำงานร่วมกันเป็นทีมในการออกแบบการสื่อสารและผลิตเป็น infographic ที่เผยแพร่ให้กับเด็กๆ เช่น การรณรงค์ให้เด็กใช้ทางม้าลายที่ถูกต้องในช่วงเปิดเทอม และการเตือนระวังในการขับรถในช่วงฤดูฝน" นางอรพรรณ กล่าว

ที่มา: Action999

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ