"ไมโครซอฟท์-กูเกิล" ลุย พัฒนาระบบความปลอดภัยการใช้ AI ในประเทศไทย

อังคาร ๐๑ ตุลาคม ๒๕๖๗ ๐๘:๓๕
"ไมโครซอฟท์-กูเกิล" พร้อมลุยพัฒนาองค์ความรู้และระบบความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยี AI ในประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ตอบโจทย์เป้าหมายการเพิ่มศักยภาพและการแข่งขันด้านดิจิทัลเทคโนโลยีของประเทศไทยตามแผนรัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยในปี 2570
ไมโครซอฟท์-กูเกิล ลุย พัฒนาระบบความปลอดภัยการใช้ AI ในประเทศไทย

เวทีสัมมนา "The Digital Imperative" ที่จัดโดยสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (Thailand Management Association : TMA) เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 60 ปี เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 สองบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท กูเกิล คลาวด์ ประกาศพร้อมสนับสนุนและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ให้กับภาครัฐและเอกชนไทย เพื่อตอบโจทย์ในการเพิ่มศักยภาพและพัฒนาการแข่งขันของประเทศไทย ตามแผนรัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยในปี 2570

นายเชาวลิต รัตนกรไกรศรี รองกรรมการผู้จัดการ สายงานโซลูชั่นองค์กร บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในการสัมมนาหัวข้อเรื่อง "Telling Right form Not Right: A Matter of Trust in the Digital World" ว่า "ปัจจุบัน ไมโครซอฟท์ ได้มีการทำงานกับภาครัฐในเรื่องการทำงานและการพัฒนา AI มาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีแผนที่จะเพิ่มทักษะการใช้ AI ของคนไทย ในปี 2567 จำนวน 1 ล้านคน"

"นอกจากนี้เราได้ร่วมกับรัฐบาลไทยในการเชิญชวนและประชาสัมพันธ์ให้ภาคเอกชนและประชาชนเข้าใช้และมีส่วนร่วมในการพัฒนา AI ให้เหมาะกับการใช้งาน รวมทั้งการประเมินความเสี่ยงในการทำงาน และระบบป้องกันปัญหาที่เกิดจากการทำเนื้อหาที่มีความรุนแรงหรือผิดกฎหมายที่ไม่เหมาะสมของ AI โดยปัจจุบันมีการพัฒนาแพลตฟอร์มที่นำ Generative AI มาใช้ โดยให้หน่วยงานของภาครัฐและคนไทยสามารถสร้าง AI ของตัวเองและสร้างมาตรฐานความปลอดภัยของตนเองได้" นายเชาวลิต กล่าว

"ปัจจุบัน เทคโนโลยี และ AI เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของไมโครซอฟท์ ที่ต้องการให้ทุกคนสามารถใช้เทคโนโลยี และ AI  โดยมี 2 ภารกิจหลัก คือ การทำอย่างไรที่จะพัฒนาเทคโนโลยี ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนและสรรค์สร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับผู้คนและสังคม และการสร้างความไว้วางใจ (Trust) ในการใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัย"

"สิ่งสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีของ ไมโครซอฟท์ ไม่ใช่แค่การพัฒนาเครื่องมือในการใช้งานในระบบการทำงาน (Feature) แต่เป็นเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูลในการใช้งาน เพราะเรารู้ว่า ไม่ว่าเครื่องมือจะดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่ปลอดภัยสำหรับการใช้งาน ก็จะไม่มีประสิทธิผลในการทำงาน" นายเชาวลิต กล่าว

"จากการวิจัยของไมโครซอฟท์ พบว่า คนไทยใช้ Generative AI สูงถึง 92% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานของทั่วโลกที่ใช้ Generative AI เฉลี่ย 73% และจากผลการวิจัยพบว่า สิ่งที่ภาคธุรกิจกังวลในการใช้ AI คือเรื่องของการหลอกลวง และการรั่วไหลของข้อมูลจากการใช้ Generative AI สิ่งที่ ไมโครซอฟท์ ทำคือ เราจะมีการตรวจสอบข้อมูลและระมัดระวังการรั่วไหลของข้อมูลโดยจำกัดการเข้าถึงข้อมูลอย่างเข้มงวด ซึ่งจะทำให้เทคโนโลยี AI สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับภาคธุรกิจ" นายเชาวลิต กล่าว

นายอรรณพ ศิริติกุล ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กูเกิล คลาวด์  กล่าวว่า ปัจจุบัน กูเกิล มีกรอบการทำงานที่สำคัญในประเทศไทยในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และ AI ใน 4 ประเด็นคือ เรื่องแรกเป็นเรื่องการให้การศึกษา (Education) ในโครงการ Advance AI โดยการให้ความรู้กับคนไทย ทั้งภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้เรามีแนวคิดในการพัฒนาให้ Advance AI เป็นผู้ช่วยในการทำงานให้กับผู้ใช้งาน ในขณะเดียวกัน กูเกิล มีแผนที่จะลงทุนในเรื่องของ Advance Infrastructure ในประเทศไทย โดยการนำนวัตกรรมที่ใช้ AI ในระดับสูงมาใช้ในประเทศไทย และ เรื่องที่ 4 ที่เราจะทำคือการตั้ง Academy เพื่อให้ความรู้กับอาจารย์และนักศึกษาในประเทศไทย ในเรื่องของเทคโนโลยี ดิจิทัล และ AI เพื่อให้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และ AI ในประเทศไทย

"นอกจาก 4 แนวทางสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี ดิจิทัล และ AI ในประเทศไทยแล้ว สิ่งสำคัญคือ เราให้ความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัยในการใช้งานเพื่อสร้างความไว้วางใจ (Trust) ในการใช้งานเทคโนโลยี ซึ่งกูเกิล มีระบบในการจัดการและบล็อก เว็ปไซด์อันตรายแบบ Real Time เพื่อป้องกันผู้ใช้งานของเรา ซึ่งเราลงทุนในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน" นายอรรณพ กล่าว

นางนิดารัตน์ อุไรเลิศประเสริฐ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อการการตลาดธุรกิจผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ พม่า กัมพูชา และ ลาว  กล่าวว่า เทคโนโลยี มีส่วนช่วยในเรื่องของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันโดยนำมาใช้ในเรื่องของการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เพราะในการผลิตสินค้าของ ยูนิลีเวอร์ หัวใจสำคัญคือ ความต้องการของผู้บริโภค (Customer Insight) ดังนั้นข้อมูลคือสิ่งที่เราต้องใช้และวิเคราะห์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรานำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล

จากผลการศึกษาของยูนิลิเวอร์พบว่า ปัจจุบัน ในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคในปัจจุบันไม่ได้อยู่ที่บริษัทผู้ผลิตสื่อสารอะไรออกไป แต่อยู่ที่ความเห็นของผู้อื่นที่ให้ความเห็นผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อดิจิทัล (Others Comment)  เป็นเรื่องที่เราต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการกับข้อมูล เพื่อที่จะได้ทำความเข้าใจลูกค้ามากขึ้น

"ในฐานะผู้ใช้บริการของเทคโนโลยี สิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจคือความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือของระบบ หรือ Digital Trust ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าระบบมีความปลอดภัย และไม่เกิดการรั่วไหลของข้อมูล ก็จะทำให้เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือที่ดีในการนำมาใช้ในการทำงาน" นางนิดารัตน์ กล่าว

เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพ

ในขณะที่เทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทในการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น และส่งผลกระทบให้หลายอาชีพถูกทดแทนแรงงานคนด้วยเทคโนโลยี ในเวทีเสวนา เรื่อง "Thriving in a Humachine World" ศาสตราจารย์ อาร์ทูโร บริส (Professor Arturo Bris) Director, IMD World Competitiveness Center กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ AI ที่เข้ามามีบทบาทในการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และหลายอาชีพถูกทดแทนด้วย AI ทำให้เกิดคำถามว่า อนาคต การทำงานร่วมกันระหว่างผู้คนกับเทคโนโลยี AI จะเป็นอย่างไร ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาได้ว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนในโลกไปเป็นในรูปแบบไหน แต่เราอาจจะประเมินได้จากข้อมูลในอดีต ยกตัวอย่างวิกฤติที่เราเพิ่งผ่านมาคือ วิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ทำให้อาชีพหลายอาชีพต้องหายไป จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาผมมองว่า เทคโนโลยี เข้ามามีส่วนในการสร้างผลผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น หลายงานเทคโนโลยี เข้ามาทดแทนคน ทำให้คนต้องหันไปพัฒนาหรือสร้างงานที่เทคโนโลยีทำไม่ได้ การทำงานของคนจะมีความยืดหยุ่นและมีความหลากหลายมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย ศาสตราจารย์บริส กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และมีการสร้างแรงงานที่มีคุณภาพมากขึ้น ส่วนประเทศไทยจะไปในทิศทางไหน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี เป็นเรื่องที่ต้องมีการวิเคราะห์ทิศทางและเป้าหมายการเติบโตของประเทศในอนาคต

ในขณะที่ นายมาร์ติน วีโซสกี้ (Mr. Martin Wezowski) Chief Futurist & Head of the Future Hub SAP, Germany ให้ความเห็นว่า เราตอบไม่ได้อย่างชัดเจนว่า คนจะทำงานร่วมกับเทคโนโลยีอย่างไรในอนาคต เทคโนโลยีจะมาทดแทนคนทั้งหมดหรือไม่ แต่สิ่งที่เราทำได้ในการวิเคราะห์และมองเห็นอนาคตใน 10 ปีข้างหน้า หรือมากกว่านั้นได้ เราต้องมาดูว่า ตัวเราเองมีกลยุทธ์และยุทธวิธีอย่างไร ในปัจจุบันที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนในอนาคต

"คนอื่นจะกำหนดตัวเราจากอดีต เราต้องตอบคำถามว่าอนาคตของเราจะไปอย่างไรในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยที่เราต้องมองว่าเรามีกลยุทธ์และยุทธวิธีอย่างไรสำหรับอนาคต ในการวางกลยุทธ์ เราต้องคิดถึงสถานการณ์ที่เลวร้าย เราต้องรู้ว่าอนาคตเป็นเรื่องที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ ต้องมีการตั้งสมมติฐานของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่เลวร้ายสุดไปจนถึงดีสุด แต่ละสถานการณ์เราต้องถามตัวเองว่าเราจะทำอะไร อย่างไร เมื่อเราคิดถึงอนาคตเราก็จะสามารถวางแผนและวางกลยุทธ์ของตัวเองได้" วีโซสกี้ กล่าว และเพิ่มเติมว่า ในการที่จะวางกลยุทธ์ที่ดี เราต้องเห็นเป้าหมาย และเราต้องรับผิดชอบต่อเป้าหมายที่เราวางไว้ และออกแบบกลยุทธ์ที่เหมาะสม เราต้องสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจใหม่ให้เราสามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีได้

 

"เทคโนโลยีหรือ AI มีประสิทธิภาพในการทำงานหลายอย่าง แต่ผมไม่เคยเห็นหุ่นยนต์มาคุยเรื่องธุรกิจ เครื่องยนต์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเราได้ แต่ทำธุรกิจแทนเราไม่ได้ นั่นคือสิ่งที่ผมมองว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ในขณะที่ผู้คนที่จะวางกลยุทธ์ของตัวเองสำหรับอนาคต ที่สำคัญคือต้องพัฒนาทักษะของตัวเองในแบบของปัจเจกบุคคลมากขึ้น จะทำให้เราสามารถใช้เทคโนโลยี เป็นเครื่องมือในการทำงานของเราในอนาคต ในแง่ของธุรกิจ ธุรกิจต้องสร้างวิสัยทัศน์ขององค์กร จากนั้นก็วางกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ อย่าเริ่มต้นที่ Roadmap แต่ให้เริ่มที่กลยุทธ์"

กระทรวงดิจิทัลฯ มั่นใจ E-Government เป็นไปตามแผนพัฒนา 5 ปี (2566-2570)

แนวโน้มและทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยี ดิจิทัล และ AI ในประเทศไทย รวมทั้งการที่เทคโนโลยีกำลังเข้ามามีบทบาทในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทักษะของการทำงานของแรงงานในประเทศ ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปาฐกถาในหัวข้อ "The Digital Imperative" ถึงความพร้อมของประเทศไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบันว่า  กรอบการทำงานงานของกระทรวงดิจิทัล มีหน้าที่สำคัญในการสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ โดยเฉพาะการเพิ่มสมรรถภาพของประเทศในเรื่องความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล โดยปัจจุบันความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของไทยอยู่ในอันดับที่ 35 ในปี 2567 เพิ่มขึ้นมาจากอันดับที่ 40 ในปี 2566 จากการจัดอันดับของ IMD  แต่เราก็มีเป้าหมายที่จะพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของไทยอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงได้มีการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของประเทศ  และมีแนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนาลดจุดอ่อนเพิ่มจุดแข็งอย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งที่กระทรวงมีภารกิจสำคัญที่ต้องทำในตอนนี้อยู่ 3 เรื่องเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการทำงานของรัฐบาลไทยสู่การเป็น E-Government ได้แก่

  1. การพัฒนาระบบของ E-Government โดยการทำงานและสื่อสารผ่านระบบดิจิทัล รวมทั้งการใช้ AI ในการดูแล ปัจจุบันเราได้มีการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยใช้ Go Cloud First ปัจจุบันทุกหน่วยในกระทรวงดิจิทัลเป็น Fully Digital ทุกกลไกในระบบใช้ดิจิทัล ไม่มีการใช้กระดาษ การทำ POC ในระบบ Cloud ซึ่งตอนนี้กระทรวงได้งบประมาณเพื่อปรับระบบราชการทั้งหมดให้ใช้ระบบ Fully Digital โดยมีเป้าหมายว่าภายในปี 2567 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงมากกว่า 60% ในระบบราชการไทย ทั้งประเทศ โดยมีการเชื่อมกับระบบการทำงานทั้งหลังบ้านและหน้าบ้าน โดยมีนโยบาย ที่จะรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ในระบบ Cloud ซึ่งจะทำให้ประชาชนไม่ต้องเดินทางมาติดต่อราชการอีก แต่สามารถติดต่อผ่านดิจิทัล โดยการยืนยันตัวตนผ่านดิจิทัล ซึ่งเป็นการเชื่อมกับ Cloud AI ที่มีความปลอดภัย ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นในปี 2567
  2. การสร้างบุคลากร หรือ Digital Manpower เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีการหารือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีการร่วมมือกับทุกส่วนงาน มีการเปิดตัวโครงการ Learn to Earn Platform เป็นการบูรณาการข้อมูล ด้านการศึกษา การนำทุกระบบเข้ามาเชื่อมโยงกัน การพัฒนาสถาบันคุณวุฒิด้านวิชาชีพ และเชื่อมโยงข้อมูลกับภาคเอกชน ซึ่งจะร่วมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลกับสถาบันการเงิน มีกระบวนการเรียนรู้และทำให้เกิดประโยชน์ ปรับปรุงหลักสูตรให้ตรงกับตลาดมากขึ้น
  3. การสร้างความมั่นใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Trust) การบริหารจัดการพวก Scammer เรื่องการหลอกลวง ที่เกิดขึ้นในระบบ กระทรวงฯ มีหน้าที่ในการบริหารจัดการและต่อต้านสิ่งที่เกิดขึ้นรวมถึงการหลอกลวงที่เกิดขึ้นกับระบบ โดยปัจจุบันกระทรวงฯ สามารถปิด website และ social media แบบ online มี Robot ตรวจ online มีศูนย์ที่ลดการหลอกลวง online และมุ่งมั่นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายกับเรื่องพวกนี้ด้วย

"ทั้ง 3 ภารกิจ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตามแผน 5 ปี ในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2566-2570" ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฐ์ กล่าว

ที่มา: PR Solution

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ