ขณะเดียวกันได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน และเฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม รวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ โดยตั้งขึ้นที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เกิดเหตุน้ำท่วม หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 67 เป็นต้นมา รวมถึงให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต สำรวจชุมชนที่มีปัญหาน้ำท่วมให้เร่งเข้าแก้ไขปัญหาทันที อีกทั้งได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตรวจสอบประสิทธิภาพของท่อระบายน้ำ ทางระบายน้ำ และระบบระบายน้ำในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลักที่มีการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและโครงการขนาดใหญ่ โดยแจ้งประสานและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้รับจ้างโครงการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำในพื้นที่ก่อสร้างและรายงานผลการดำเนินงานให้ กทม. ทราบเป็นประจำทุกเดือน รวมทั้งตรวจสอบการเบี่ยงแนวท่อระบายน้ำ (By Pass) ให้น้ำสามารถไหลได้สะดวก หากมีปัญหาติดขัดในการระบายน้ำให้แจ้งโครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดที่ยังมีการก่อสร้าง เพื่อเร่งระบายน้ำเข้าระบบระบายน้ำของ กทม. ต่อไป หากมีปัญหาติดขัดในการระบายน้ำให้แจ้งโครงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดที่ยังมีการก่อสร้าง เพื่อเร่งระบายน้ำเข้าระบบระบายน้ำของ กทม.
นอกจากนี้ ได้ประสานหน่วยงานโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ยังไม่แล้วเสร็จให้เร่งแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบระบายน้ำของ กทม. โดยเฉพาะการก่อสร้างระบบระบายน้ำคูน้ำแนวถนนวิภาวดีรังสิต รวมทั้งได้ประชุมหารือร่วมกับเทศบาลนครนนทบุรี กรมทางหลวง เทศบาลนครปากเกร็ด เทศบาลเมืองคูคต กรมชลประทาน และเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนพื้นที่รอยต่อให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว อีกทั้งได้ประสานความร่วมมือกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ โดยประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำและประชุมติดตามสถานการณ์กับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อวิเคราะห์ ติดตามคาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณฝน ปริมาณน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
ที่มา: กรุงเทพมหานคร