กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets) ประเมินเงินบาทแข็งค่าเร็วที่สุดในภูมิภาค

พุธ ๐๒ ตุลาคม ๒๕๖๗ ๑๗:๒๑
กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets) ประเมินเงินบาทแข็งค่าเร็วที่สุดในภูมิภาค ในระยะต่อไป มองว่าเงินบาทอาจมี Correction ก่อนที่จะกลับสู่เทรนด์แข็งค่าในระยะกลาง-ยา
กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets) ประเมินเงินบาทแข็งค่าเร็วที่สุดในภูมิภาค

กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่า เงินบาทเดือนที่ผ่านมาแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค จากทั้งการลดดอกเบี้ยของ Fed ราคาทองคำที่สูงขึ้น และเงินทุนไหลเข้าไทย ซึ่งทำให้ดัชนีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็วตามไปด้วย ทั้งนี้ พบว่า ธปท. เข้าดูแลเงินบาทหลังภาวะการเงินตึงตัวขึ้นเร็ว ในระยะต่อไป มองว่าเงินบาทจะยังผันผวนสูง โดยต้องจับตาการลดดอกเบี้ยของ Fed สงครามในตะวันออกกลาง และการสื่อสารของ กนง. ซึ่งอาจทำให้บาทมี Correction ในระยะสั้น จึงมองเงินบาทโดยเฉลี่ยอาจอยู่ในกรอบราว 32.45-32.95 ในช่วง 1 เดือนจากนี้ สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อแนวโน้มเงินบาทในไตรมาสที่ 4 คือ การเลือกตั้งสหรัฐฯ และแนวโน้มเงินหยวน โดยหาก Harris ชนะการเลือกตั้ง อาจทำเกิดการ Unwind Trump trade อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อาจลดลง เงินดอลลาร์อาจอ่อนค่า ทำให้เงินบาทแข็งค่า ส่วนการแข็งค่าของเงินหยวนในระยะต่อไปน่าจะมีจำกัด ทำให้แรงกดดันด้านแข็งค่าต่อเงินบาทอาจมีน้อยลง คาดกรอบเงินบาท 32.00-32.50 ปลายปีนี้

นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เงินบาทเดือนที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นถึงเกือบ 5% ซึ่งแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค โดยเป็นผลจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดดอกเบี้ย 50 bps ในการประชุมเดือนกันยายน โดยตลาดมองว่าการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นการลดเพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะไม่เกิดภาวะถดถอย (Insurance cut) จึงทำให้ความเชื่อมั่นในตลาดปรับดีขึ้น (Risk-on sentiment) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury yields) ลดลง เงินดอลลาร์อ่อนค่า และสกุลเงินภูมิภาครวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ ราคาทองคำก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า โดยราคาทองคำปรับสูงขึ้นต่อเนื่องและทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นผลจากทั้งอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินที่ลดลง อุปสงค์ต่อทองคำจากทั้ง ETF, Hedge fund, และธนาคารกลางที่สูงขึ้น ซึ่งราคาทองคำมีความสัมพันธ์กับเงินบาทสูง จึงทำให้บาทแข็งค่าเร็วกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค

ยังมีปัจจัยที่ตลาดไม่ได้คาดคิด ซึ่งเป็นแรงกดดันด้านแข็งค่าต่อสกุลเงินภูมิภาค และทำให้เงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าที่คาดไว้ คือการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน และการเลือกหัวหน้าพรรค Liberal Democratic Party (LDP) ของญี่ปุ่น โดยธนาคารกลางจีน (PBOC) และกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Politburo) ได้แถลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการลดดอกเบี้ย (Reverse repo และ 1-year MLF) เพิ่มสภาพคล่องเข้าตลาดหุ้น (อย่างน้อย 5 แสนล้าน) อัดฉีดเงินให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย และกระตุ้นการบริโภคเอกชนผ่านการปล่อยกู้ ส่งผลให้เงินหยวนกลับมาแข็งค่าเร็วในสัปดาห์ที่ผ่านมาพร้อมดัชนีตลาดหุ้นจีนที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ความเชื่อมั่นที่สูงนี้ทำให้เกิด Risk-on ในตลาดเอเชีย และดันให้เงินบาทแข็งค่าตามเงินหยวน นอกจากนี้ การเลือกหัวหน้าพรรค LDP ของญี่ปุ่นก็ออกมาเหนือความคาดหมาย โดยนายชิเงรุ อิชิบะ ที่ได้รับเลือก มีนโยบายสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น จึงทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นเร็ว กดดันให้เงินบาทแข็งค่าตาม

นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า ในระยะสั้นนี้เงินบาทจะยังผันผวนสูง โดยมีปัจจัยจากทั้งการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed สงครามในตะวันออกกลาง รวมถึงโอกาสการลดดอกเบี้ยของ กนง. โดยขณะนี้ตลาดมองว่า Fed จะลดดอกเบี้ยอีกราว 70 bps ใน 2 การประชุมที่เหลือของปีนี้ ซึ่งหาก Fed ลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ตลาดคาด ก็อาจทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury yields) ปรับสูงขึ้น กดดันให้ดัชนีเงินดอลลาร์แข็งค่า และบาทกลับมาอ่อนค่าได้ โดยสิ่งที่ต้องจับตาในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งหากอัตราว่างงานยังออกมาที่ 4.2% หรือต่ำกว่า ก็อาจทำให้ Yields สูงขึ้น ดอลลาร์แข็งค่า และบาทอ่อนได้ นอกจากนี้ หากสงครามในตะวันออกกลางทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจมาจากการตอบโต้ของอิหร่าน หรืออิสราเอลเพิ่มความรุนแรงในการโจมตีเลบานอน ก็อาจทำให้เกิดภาวะ Risk-off และนักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงและสกุลเงินภูมิภาค ทำให้เงินบาทอ่อน ทั้งนี้ ในกรณีนี้มองว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าน้อยกว่าสกุลอื่นในภูมิภาคได้ เพราะราคาทองคำที่อาจปรับสูงขึ้นตามไปด้วยจะช่วยพยุงให้เงินบาทไม่อ่อนค่ามาก สำหรับปัจจัยสุดท้ายที่จะส่งผลต่อความผันผวนเงินบาทในระยะสั้นคือ โอกาสในการลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ซึ่ง ณ ขณะนี้ตลาดมองว่า กนง. จะลดดอกเบี้ย 1 ครั้งปลายปี แต่หาก กนง. ยังสื่อสารไปในทางที่อาจจะไม่ลดดอกเบี้ย (Hawkish) ก็อาจเป็นแรงกดดันด้านแข็งค่าต่อเงินบาทเพิ่มเติมได้ คาดว่าในระยะสั้น เงินบาทโดยเฉลี่ยอาจอยู่ในกรอบราว 32.45-32.95 โดยหากเงินบาทอ่อนค่าไปที่ระดับราว 32.65-32.95 จะเป็นจังหวะให้ผู้ส่งออกพิจารณาขายเงินดอลลาร์ออกได้ และหากเงินบาทแข็งค่าไปที่ระดับราว 32.20-32.50 จะเป็นจังหวะให้ผู้นำเข้าพิจารณาซื้อเงินดอลลาร์เพิ่มได้

สำหรับในระยะกลางถึงยาว นายวชิรวัฒน์ยังมองว่า เงินบาทอาจยังมีทิศทางแข็งค่าขึ้นได้อีกเล็กน้อย โดยมองกรอบปลายปีที่ราว 32.00-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ การลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของ Fed จะทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าได้ โดยจากการศึกษาวัฏจักรการลดดอกเบี้ยของ Fed พบว่า 3 ใน 4 ครั้งล่าสุด เงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลง ราคาทองคำปรับสูงขึ้น และเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าขึ้นภายใน 1 เดือนหลัง Fed ลดดอกเบี้ยครั้งแรก ซึ่งคาดว่าวัฏจักรการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ก็จะทำให้เกิดภาวะ Risk-on และทำให้มีเงินทุนไหลเข้าตลาดกำลังพัฒนา (Emerging Markets: EMs) รวมถึงไทย ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าต่อได้ โดยในเดือนกันยายนพบว่ามีเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทย 2.9 หมื่นล้านบาท และไหลเข้าตลาดพันธบัตรรัฐบาล 1 หมื่นล้านบาท ทำให้รวมทั้งปี มีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทย 9.5 หมื่นล้านบาท และไหลออกจากตลาดพันธบัตรรัฐบาล 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นโมเมนตัมที่ดีขึ้นจากปีก่อนที่เงินไหลออกรวมกันถึง 3.4 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ การเลือกตั้งสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง กดดันให้บาทแข็งค่าต่อได้เช่นกัน ทั้งนี้คาดว่าหากนางกมลา แฮร์ริส ชนะการเลือกตั้ง อาจทำเกิดการปรับสัดส่วนสินทรัพย์ของนักลงทุน (Unwind Trump trade) และความเสี่ยงจากการขึ้นภาษีนำเข้าที่ลดลง จะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงด้วย สำหรับนัยต่อตลาดบอนด์ ประเมินว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury yields) อาจลดลงได้ เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ จะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลและภาษีผู้มีรายได้สูงเพิ่มขึ้น ส่วนเศรษฐกิจระยะยาวอาจโตน้อยลงตามค่าจ้างและการจ้างงาน และความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อจากภาษีนำเข้าอาจน้อยลง จึงทำให้ Yields ระยะยาว มีแนวโน้มลดลงได้มากกว่า Yields ระยะสั้น ดังนั้น Yield จึงอาจลดลงแบบ Bull flatten อย่างไรก็ดี หาก Trump ชนะการเลือกตั้ง อาจทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าเร็วจากการขึ้นภาษีนำเข้า และ Treasury yields อาจปรับสูงและชันขึ้น จากความกังวลด้านฐานะการคลังที่รายได้การจัดเก็บภาษีมีแนวโน้มลดลง ขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้น อีกทั้ง ภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นอาจทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น กดดันให้ Yields ระยะยาวสูงขึ้นมากกว่า Yields ระยะสั้น

ที่มา: ธนาคารไทยพาณิชย์

กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets) ประเมินเงินบาทแข็งค่าเร็วที่สุดในภูมิภาค

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ