รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า ท่ามกลางความท้าทายในยุค BANI World โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวิกฤตการณ์ด้านสุขภาพครั้งใหญ่จากโควิด-19 การทบทวนโลกาภิวัตน์ (Rewiring Globalization) และ Glocalization อันเป็นกระบวนการเชื่อมต่อระหว่างโลกาภิวัตน์กับความเป็นท้องถิ่น ด้วยทางเลือกประสบการณ์และมาตรฐานใหม่ที่คาดหวัง มหาวิทยาลัยทักษิณ ภายใต้วิสัยทัศน์ "มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมระดับแนวหน้าของประเทศ" ได้มุ่งสร้างกระบวนการทางความคิด แนวคิด วิธีการ กระบวนทัศน์ใหม่ นโยบาย แนวทางการพัฒนา การแก้ไขปัญหาที่ตอบสนองความต้องการของสังคม และการพัฒนาในมิติต่าง ๆ ด้วยการสร้าง/ใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ การพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม (Technology and Innovation) รวมทั้งตระหนักถึงการพัฒนากำลังคน ที่มีความรู้ ทักษะ สมรรถนะใหม่ การส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต การสร้างประสบการณ์ และ "ปัญญาปฏิบัติการ" ให้เป็นต้นทุนชีวิตที่สำคัญด้วยอัตลักษณ์ "รับผิดชอบ รอบรู้ สู้งาน มีประสบการณ์เชิงปฏิบัติ" ไปพร้อม ๆ กับการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์และพันธกิจ สมดังปรัชญา "มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม" และการขับเคลื่อนนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่บนฐานภูมินิเวศวัฒนธรรมและภูมิปัญญาอาณาบริเวณ การเชื่อมต่อกับสังคม/ชุมชน พื้นที่ (Social Engagement Plugin) ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม สนับสนุนการเติบโต การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในระดับชาติและนานาชาติ การตอบสนองการพัฒนาประเทศในเชิงยุทธศาสตร์และนโยบาย ผ่านความร่วมมือของหลายภาคี (Quintuple Helix)
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ ได้เปิดเผยนโยบายเพื่อสร้างคานงัดใหม่ของมหาวิทยาลัยทักษิณเพื่อมุ่งมั่นสร้างสรรค์สู่การบริหารเพื่อขับเคลื่อนและมุ่งสู่ภาพอนาคตการเป็นมหาวิทยาลัยจากรากสู่โลก (The University of Glocalization) ในเชิงยุทธศาสตร์ การเติบโตที่ไม่หยุดยั้งยั่งยืน ด้วย "ก้าวที่กล้า 10 คานงัดใหม่ มหาวิทยาลัยทักษิณ" คือ
1) พัฒนานิสิตให้มีความรู้ ทักษะรอบด้าน และประสบการณ์ปฏิบัติ ด้วยหลักสูตรสหวิทยาการ หลักสูตรใหม่ ๆ การเรียนแบบสะสมหน่วยกิต (TSU Credit Bank) และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (TSU for All) พัฒนาหลักสูตรใหม่ เป็นหลักสูตรพรีเมี่ยม (TSU Premium) ด้วยหลักสูตรสองภาษา (Bilingual Degree) หลักสูตรควบสองปริญญา (Double Degree) หลักสูตรนานาชาติ (International Degree) ผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่ตอบสนองต่อการเรียนรู้ และเป็นนิสิตที่รู้จักราก-เข้าใจโลก ที่เรียกว่า Glocal Citizen
2) ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการเรียนรู้แบบยืดหยุ่น ด้วยแพลตฟอร์มมหาวิทยาลัยการเรียนรู้สำหรับทุกคน "TSU For ALL" ซึ่งเป็นการลงทะเบียนเรียนรายวิชาในการศึกษานอกระบบ ได้แก่ TSU Pre-Degree /Non Degree และการศึกษาตามอัธยาศัย ได้แก่ หลักสูตรฝึกอบรม รายวิชาออนไลน์ TSU MOOC และประสบการณ์บุคคล เพื่อเทียบโอนเข้าสู่การศึกษาในระบบ คือ รายวิชาและหลักสูตรปริญญาของมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยผู้เรียนนำผลมาเก็บสะสมไว้ในระบบธนาคารคลังหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยทักษิณ (TSU Credit Bank) เพื่อขอรับปริญญาและ/ หรือสร้าง-เปลี่ยนเส้นทางอาชีพที่เป็นทางเลือกใหม่ ๆ ของชีวิต
3) สร้างระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานการสนับสนุน "โลกชีวิตในมหาวิหยาลัย" (Campus Life) โดยจัดตั้ง "TSU ICON" ในชื่อ "ศูนย์ส่งเสริมการประกอบการและการเรียนรู้แบบสร้างสรรค์" และ "ศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและนวัตกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์" แห่งใหม่ของภาคใต้ ที่วิทยาเขตสงขลาและวิทยาเขตพัทลุง ควบคู่กับการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้เป็นมหาวิทยาลัยที่น่าอยู่เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ด้วยพื้นที่สร้างสรรค์ในหลากหลายรูปแบบ เช่น การจัดให้มี Co-Working Space พื้นที่สร้างสรรค์จินตนาการแห่งใหม่ การสร้างหอพัก Premium การจัดพื้นที่ TSU Prayer Zone สำหรับกิจกรรมทางศาสนา จิตวิญญาณ และการอยู่ร่วมในพหุสังคมวัฒนธรรม เป็นต้น
4) จัดตั้ง "ศูนย์การแพทย์แบบองค์รวม มหาวิทยาลัยทักษิณ" (TSU Holistic Medical Center) ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ทำหน้าที่ผสมผสานและบูรณาการองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนปัจุบัน การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก และภูมิปัญญาตะวันออก เชื่อมโยงการรักษาที่บ้าน (Home Health Care) บริการในโรงพยาบาลที่ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันและรักษาโรค ศูนย์ดูแลและฟื้นฟูสุขภาพ (TSU Wellness Centre) และการบริบาลในช่วงสุดท้ายของชีวิต (Hospice care)
5) งานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงสังคม พาณิชย์ และการนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ โดยมุ่งเป้าในกลุ่มประเด็นหลักคือ การพัฒนาเกษตรและเทคโนยีชีวภาพโดยใช้ฐานทรัพยากรอัตลักษณ์พื้นถิ่นและการสร้างให้เกิดธุรกิจนวัตกรรม การใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีและทรัพยากรพื้นถิ่นเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในพื้นที่ภาคใต้ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาภาคใต้ยั่งยืน และการวิจัยเชิงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ด้วยการวิจัยและพัฒนา Soft Power ในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา การท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการลดความเหลื่อมล้ำด้วยนวัตกรรมการศึกษาตลอดชีวิต
6) เพิ่มอันดับการจัดมหาวิทยาลัยโลกให้สูงขึ้นในเชิงคุณภาพ ในสถาบัน THE Impact Ranking Webometrics Ranking of World University, UI Green Metric World University Ranking และ Museum World Ranking การริเริ่มการจัดอันดับมหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม (Thailand Social Innovation University Ranking) และการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายสถาบันนวัตกรรมสังคมในระดับโลก (World Social Innovation and Impact)
7) ฟื้น "สถาบันทักษิณคดีศึกษา" เป็นศูนย์กลาง-ชุมทางวัฒนธรรมและพื้นที่สร้างสรรค์
8) จัดตั้งโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยทักษิณ ฝ่ายประถม เพื่อผลิตนักเรียนระดับปฐมวัยและปฐมศึกษา
9) ขับเคลื่อน TSU Holding Company ที่ได้รับการจัดตั้งในชื่อ บริษัททีเอสยู เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (TSU Enterprise) เป็นระบบและกลไกขับเคลื่อนธุรกิจ-เศรษฐกิจนวัตกรรมด้วยด้วยเทคโนโลยี (Tech Start Up) และการผู้ประกอบการในมหาวิทยาลัย
10) สนับสนุนบทบาท "ปัญญาชนสาธารณะ" นำความรู้-ปัญญาสู่สังคม ในประเด็นรูปธรรมเชิงพื้นที่ การเชื่อมต่อนโยบาย การปฏิบัติการทางสังคมด้วยจิตสำนึกสาธารณะและความเป็นพลเมืองของบุคลากรและนิสิต
การแถลงนโยบายที่จะดำเนินการทำทันทีของมหาวิทยาลัยทักษิณไม่เพียงแต่การยกระดับด้านจัดการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคน การวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่ การบริการวิชาการและถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และการพัฒนานวัตกรรมสังคมบนฐานศิลปะ วัฒนธรรม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อการทำนุบำรุงศิลปะ วัฒนธรรม และยกระดับคุณภาพชีวิตในชุมชน แต่ยังมุ่งหวังที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมในวงกว้าง ด้วยการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยทักษิณได้วางรากฐานสำหรับการเป็นสถาบันการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมในศตวรรษที่ 21 อย่างแท้จริง ในการก้าวสู่การเป็น "มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมระดับแนวหน้าของประเทศ" ซึ่งเป็นการยกระดับการอุดมศึกษาไทยสู่เวทีโลก พร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ที่มา: double D media