ดร.สราวุธ ราชศรีเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เผยถึงภาพรวมและแผนการดำเนินงานด้านกิจการเด็กและเยาวชนว่า "ปัจจุบันมูลนิธิศุภนิมิตฯ มีเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 13-18 ปี ในโครงการอุปการะเด็ก เกือบ 20,000 คน ภายใต้รูปแบบการดำเนินงานพัฒนาเยาวชนที่เน้นสร้างความเข้มแข็งภายในให้กับเยาวชนเปราะบางและเยาวชนในชุมชนห่างไกล โดยมีกิจกรรมหลัก คือการพัฒนาทักษะชีวิต การพัฒนาทักษะอาชีพ การสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนเกิดการพัฒนาศักยภาพ ทั้งทักษะการคิด การแก้ไขปัญหา การเรียนรู้ที่จะสร้างความสัมพันธ์และอยู่ร่วมกับผู้อื่น ๆ และการค้นหาตัวตนของแต่ละคน ซึ่งในปีนี้ เรามุ่งเน้นขับเคลื่อนและดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน (Children and Youth Participation) รวมถึงการพัฒนาเด็กเปราะบางที่สุด (Most Vulnerable Children) ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม โดยเน้นให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์ โดยเปิดเวทีให้เด็กและเยาวชนได้นำเสนอผลงานวิจัยภาวะความเปราะบางของเด็กในพื้นที่ชนบทและชุมชนเมือง เพื่อผลักดันนโยบายด้านความอยู่ดีมีสุขของเด็ก (Child Well-Being) ตลอดจน การมีกลไกเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่จะมีความเข้มแข็งขึ้น โดยการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนศุภนิมิต รวมถึงเป็นเวทีเชิดชูเกียรติ เยาวชนดีเด่น การนำเสนอผลงาน และการมีส่วนร่วมของเยาวชนด้วย"
ด้านหัวเรือใหญ่ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ คุณรัตนธิดา ประวัง ผู้จัดการฝ่ายวิชาการ งานพัฒนาชีวิตเยาวชน มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "มูลนิธิศุภนิมิตฯ เรามีการจัดทำโครงการสำหรับเยาวชนอยู่กว่า 40 โครงการทั่วประเทศ แต่ละพื้นที่ ก็จะมีการจัดกิจกรรมในระดับพื้นที่ก่อน เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมในระดับชุมชน โดยมีเยาวชนเป็นแกนหลัก เป็นเวทีให้ได้แสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ ฝึกฝนทักษะการใช้ชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ หรือการทำกิจกรรม แคมเปญรณรงค์สะท้อนปัญหาในชุมชนที่อาศัยอยู่ ซึ่งในช่วงวันเยาวชนแห่งชาติของทุกปี มูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อเปิดเวทีให้น้องเยาวชน ได้มีโอกาสแสดงผลงานจากโครงการต่าง ๆ ที่น้อง ๆ มีส่วนนร่วม รวมถึงแสดงความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็น สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นและหาทางออกร่วมกัน จึงเกิดเป็นงาน Youth Forum 2024
โดยเป้าหมายหลักคือ การให้เด็กและเยาวชนค้นหาความสามารถของตัวเอง ผ่านทักษะด้านต่าง ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของแต่ละคน ต่อยอดสู่การสร้างรายได้และอาชีพต่อไป และอีกความหวังหนึ่ง คือ เป็นกระบอกเสียง สร้างแรงกระเพื่อมให้ชุมชน สังคม ได้หันกลับมารับฟังปัญหาที่เยาวชนเหล่านี้ และในปีนี้ ถือเป็นโอกาสพิเศษที่เรามีการจัดตั้ง สภาเยาวชนแห่งศุภนิมิตแห่งประเทศไทยด้วย เพื่อเป็นกลไกลสำคัญขับเคลื่อนงานของเยาวชน ให้สิทธิให้เสียงในวงกว้างมากขึ้น เป็นตัวแทนคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง และให้เยาวชนได้มั่นใจว่าเสียงของพวกเขา มีความหมายและได้รับการแก้ไขจากผู้ใหญ่อย่างแท้จริง ซึ่งภาพรวมของการจัดงานในปีนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้ เราได้รับเกียรติจากผู้ใหญ่ในหน่วยงานด้านเด็กและเยาวชนหลายท่าน เข้ามารับฟังในประเด็นที่น้อง ๆ เยาวชนสะท้อนเพื่อนำไปต่อยอด และขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมต่อไป"
นายตะวัน เยาวชนศุภนิมิตฯ จังหวัดพังงา ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 12 ผู้นำเยาวชนจากศุภนิมิตสากล ( World Vision) และ 1 ใน 2 ของเอเชียที่ได้เข้าร่วม Children and Youth People's Advisory Group เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับว่า "ผมเริ่มต้นจากการทำกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดพังงาก่อน จนได้มีโอกาสมาร่วมงาน Youth Forum ซึ่งงานนี้ผมได้ทำกิจกรรม แสดงศักยภาพตัวเองออกมาได้เต็มที่จนได้รับเลือกให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งในงานระดับนานาชาติ ในงานก็มีตัวแทนเยาวชนจากทั่วโลก เพื่อพูดคุยกันในประเด็น ภาวะโลกร้อน แต่ละคนก็จะแชร์ปัญหาที่เกิดขึ้น และหาทางออกร่วมกัน โดยมีผู้ใหญ่ร่วมรับฟังเสียงของพวกเราด้วย ผมก็ได้หยิบยกเอาปัญหาภาวะโลกร้อน ที่ส่งผลให้เด็กเป็นโรคฮิสโตรก เรียกได้ว่า เป็นประสบการณ์ที่เกินความคาดหมาย เพราะผมก็ไม่ได้คิดว่า เสียงของเราจะได้เป็นหนึ่งในระดับนานาชาติ ซึ่งผมจะได้นำองค์ความรู้ที่ได้จากงานนี้มาต่อยอดในชุมชนต่อไป ก็ต้องขอบคุณศุภนิมิตฯ ด้วยครับที่ให้โอกาสผมในหลาย ๆ อย่างให้โอกาส ให้ประสบการณ์ จากเด็กบ้าน ๆ ไม่กล้าพูดไม่กล้าแสดงออก กลายมาเป็นผู้นำเยาวชน และผมตั้งใจว่า จะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมนี้ต่อไป ผมรู้สึกมีแพชชั่นด้านนี้มากครับ"
นางสาวเกวลิน ตัวแทนเยาวชนจากจังหวัดจันทบุรี ได้รับรางวัลเชิญชูเกียรติเครือข่ายเด็กและเยาวชน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2567 ระดับเหรียญเงิน จากการทำโครงการ หนองสลุด Zero Waste ภายใต้โครงการเยาวชนสร้างสรรค์ สร้างสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (Trash2Cash) เล่าให้ฟังว่า "จากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน ที่มีการเผาใบไม้เพื่อประโยชน์ทางการเกษตร แต่กลับสร้างผลกระทบให้โรงเรียนและชุมชนโดยรอบ บวกกับในโรงเรียน ก็มีปัญหาขยะจากพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง หนูและเพื่อน ๆ จึงเกิดแนวคิดที่อยากจะแก้ไขปัญหาขยะในโรงเรียน และปลูกจิตสำนึกนักเรียนและคนในชุมชน รู้จักการแยกขยะ เพื่อลดปัญหาปริมาณขยะล้นโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการกำจัดขยะที่ถูกต้อง การใช้ถุงผ้า นำขยะมารีไซเคิล ประดิษฐ์ของใช้จากขยะหลายรูปแบบ เป็นต้น จนโครงการที่พวกเราทำ ได้รับรางวัลดังกล่าวในระดับประเทศ ซึ่งเป็นความภูมิใจอย่างมาก ส่วนตัวมองว่า หลังจากที่ได้เข้าร่วม Youth Forumกับทางศุภนิมิตฯ ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในตัวเองอย่างมาก จากที่เป็นคนเงียบ ๆ ไม่ค่อยเข้าสังคม กลายมาเป็นแกนนำรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบ เป็นคนที่ชอบการทำกิจกรรมชอบช่วยเหลือคนอื่น"
ที่มา: Hi-Like Agency