โดย นายพิพัฒน์ เปิดเผยว่า ในสถานการณ์น้ำท่วม ผมและท่านปลัดกระทรวงแรงงาน ท่านอธิบดี ได้ทำงานร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด ภาครัฐ ภาคเอกชน และจิตอาสาในพื้นที่ ซึ่งการมาลงพื้นที่ช่วยเหลือน้ำท่วม จ.เชียงราย นับเป็นครั้งที่ 2 แล้ว โดยมีความเป็นห่วงชาวบ้าน และ พี่น้องแรงงาน ที่ยังประสบอุทุกภัย น้ำยังคงท่วมบ้านเรือน และพื้นที่ทำงาน ได้รับความเสียหาย ผมและคณะ จึงได้นำถุงยังชีพของกระทรวงแรงงาน และเครื่องอุปโภคบริโภคจากสถานประกอบกิจการเครือข่ายแรงงานมามอบให้เป็นการเบื้องต้น พร้อมกันนี้ได้พาทีมช่างกว่า 50 คนจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมาตั้งจุดซ่อมบำรุงในพื้นที่ นอกจากนี้ผู้บริหารกรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคมมาร่วมพบปะพูดคุยสอบถามความต้องการความช่วยเหลือกับพี่น้องประชาชน และช่วยแก้ปัญหาวางแผนฟื้นฟู ที่อยู่อาศัยและแก้ปัญหาเรื่องการทำงานของพี่น้องแรงงานในระยะยาวหลังน้ำลดด้วย
ผมขอให้กำลังใจพี่น้อง อ.แม่สาย จ. เชียงราย และขอขอบคุณ ท่านโชตินรินทร์ เกิดสม รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ท่านชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีแม่สาย ท่านอุบล ใจวรรณะ นายกเทศมนตรีแม่สายมิตรภาพ ท่านปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พลตรี ชยพณัฐ วิริรัตน์ รองเจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร และเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่เกี่ยวข้องทุกท่านที่ได้ทำงานบูรณาการร่วมกับกระทรวงแรงงาน ในการช่วยเหลือประชาชน และพี่น้องแรงงานทุกท่าน ถ้ามีปัญหาสิ่งใด ให้แจ้งกับเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานในจังหวัดได้เลย ก็ได้ระดมทีมช่างช่วยซ่อมแซมอย่างเต็มกำลังต่อไป " รมว.พิพัฒน์ กล่าวปิดท้าย
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการณ์น้ำท่วม กระทรวงแรงงานได้มอบถุงยังชีพซึ่งได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการภาคเอกชนร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน เพื่อมอบให้แก่พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนใน 41 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการลงในพื้นที่ในวันนี้ร่วมกับ 5 เสือแรงงาน ได้มามอบ เครื่องอุปโภคบริโภคและเงินช่วยเหลือครอบครัวแรงงาน ได้แก่ ครอบครัวของอาสาสมัครแรงงาน ครอบครัวของบัณฑิตแรงงาน รวมถึงครอบครัวเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจและบรรเทาความเดือดร้อนอีกด้วย
ด้านของนางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเสริมว่า ในส่วนของกรมนั้นได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงราย จัดตั้งจุดบริการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในแต่ละอำเภอ จำนวน 5 จุด ได้แก่ หมู่ที่ 8 บ้านป่ายาง, หมู่ที่ 3 บ้านสันผักฮี้, ชุมชนเกาะทราย อ.แม่สาย หมู่ที่ 3 ต.ริมกก และชุมชนทวีรัตน์ ต.ริม อ.เมืองเชียงราย เพื่อให้บริการซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้าน รถจักรยานยนต์ และเครื่องยนต์การเกษตรขนาดเล็กให้แก่ประชาชน โดยมีทีมช่างจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 20 เชียงราย และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ สพร. 10 ลำปาง สพร. 19 เชียงใหม่ สพร.นานาชาติ สถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ สนพ.ลำพูน พะเยา และน่าน รวมถึงยังมีการบูรณาการร่วมกันกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงราย ในการช่วยเหลือครั้งนี้ด้วย ปัจจุบันมีผู้มาลงทะเบียนนำรถจักรยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้ามารับบริการ ทั้งหมด 335 รายการ ประกอบด้วย การซ่อมรถจักรยานยนต์จำนวน 145 คัน เครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวน 171 เครื่อง เครื่องยนต์เล็ก ประเภทเครื่องตัดหญ้า จำนวน 19 เครื่อง ทั้งนี้กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานยังให้ความช่วยเหลือยาวจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม หลังจากนี้ประชาชนสามารถนำอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ส่งซ่อมได้ที่สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานในจังหวัด
ที่มา: กองสื่อสารองค์กร กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน