สกสว. - ม.ธรรมศาสตร์ ชี้ 4 กลไกสำคัญขับเคลื่อนการศึกษาไร้รอยต่อ จัดระดมความเห็นและสรรหาแนวทางสร้างสรรค์การศึกษาระบบใหม่ รับความต้องการผู้เรียน

จันทร์ ๐๗ ตุลาคม ๒๕๖๗ ๑๖:๓๕
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะทำงานบูรณาการประเด็นยุทธศาสตร์ ววน. ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ (Strategic Agenda Team: SAT การศึกษาและการเรียนรู้) ร่วมนำเสนอและแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนกรอบแนวคิด "การศึกษาไร้รอยต่อ" ให้สอดคล้องกับระบบการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อให้คนไทยทุกคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ตามความสนใจ ตามความต้องการ และบริบททางสังคมของแต่พื้นที่ ผ่านเวทีเสวนาเชิงยุทธศาสตร์ "เสริมพลังและเชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไร้รอยต่อ"
สกสว. - ม.ธรรมศาสตร์ ชี้ 4 กลไกสำคัญขับเคลื่อนการศึกษาไร้รอยต่อ จัดระดมความเห็นและสรรหาแนวทางสร้างสรรค์การศึกษาระบบใหม่ รับความต้องการผู้เรียน

รองศาสตราจารย์ ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ที่ผ่านมางบประมาณสนับสนุนในเรื่องของการศึกษา ส่วนมากลงไปอยู่ระดับในห้องเรียน สิ่งที่ขาดคืองานวิจัยเชิงระบบที่เป็นรากฐานสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการศึกษาของไทย โดย สกสว. มีเป้าหมายสร้างความรู้เชิงระบบ ผ่านการดำเนินการของคณะทำงานวิชาการ SAT การศึกษาและการเรียนรู้ เพื่อช่วย สกสว. กำหนดแผนและแนวทางในการใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศ ในการดำเนินการที่ผ่านมาได้จัดเวที โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและเครือข่ายทางการศึกษา คุณครู นักการเมือง ตลอดจนนักปฏิบัติการจริงมาช่วยกันคิด เพื่อสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการศึกษาไร้รอยต่อ

สำหรับระบบการศึกษาแบบไร้รอยต่อเป็นมุมมองในการทำความเข้าใจระบบการศึกษาไทย เป็นทรรศนะที่ยึดการเรียนรู้ของบุคคลเป็นศูนย์กลาง โดยให้ความสำคัญกับทุนทางสังคมที่มองเห็นว่าภาคีเครือข่าย หรือ Actors อื่น ๆ ที่ให้บริการทางการศึกษาและการเรียนรู้อยู่มากมาย รวมทั้งการมองเห็นความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งที่ผ่านมานโยบายทางการศึกษาเน้นการออกกฎระเบียบหรือวิธีการแก้ปัญหาแบบเหมารวม ส่งผลให้เกิด "รอยต่อ" ที่เป็นอุปสรรคทำให้บุคคลเข้าไม่ถึงเส้นทางการเรียนรู้ ทำให้การพัฒนาศักยภาพไม่ต่อเนื่องหรือไม่ตอบโจทย์ชีวิต ดังนั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน และ ภาพของระบบการศึกษาไร้รอยต่อที่ชัดขึ้น สกสว.จึงสนับสนุนให้มีการวิเคราะห์การศึกษาและการเรียนรู้เชิงระบบ เพื่อศึกษาข้อเสนอแนะที่แตกต่างของแต่ละภาคส่วน มาเชื่อมปฏิสัมพันธ์การทำงานเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของจินตนาการของระบบการศึกษาแบบใหม่ ว่าควรจะต้องส่งมอบอะไร โดยร่วมกับ มธ. จัดเสวนา เชิงยุทธศาสตร์ "เสริมพลังและเชื่อมโยงเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาไร้รอยต่อ" เพื่อนำเสนอข้อค้นพบ และความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี หัวหน้าคณะทำงานวิชาการ SAT การศึกษาและการเรียนรู้ กล่าวถึงข้อเสนอแนวทางและนโยบายเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการศึกษาไร้รอยต่อ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 สมานรอยต่อในและนอกระบบ โดย การจัดการศึกษา 1 โรงเรียน 3 ระบบ คือ การจัดการการศึกษาแบบองค์รวมและผสมผสานทั้งการศึกษาในระบบ โรงเรียน การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อป้องกันไม่ให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยงหลุดออกนอกระบบ และให้พวกเขาได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องในรูปแบบที่เหมาะสมกับตนเอง โดยโรงเรียนจะต้องจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ การวัดประเมินให้ยืดหยุ่น เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน นักเรียน ชุมชน และคำนึงถึงความแตกต่าง ระหว่างบุคคลและสภาพปัญหาของผู้เรียน นโยบายนี้เป็นไปได้ตามหลักการใน พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ระบุว่า สถานศึกษาสามารถจัดการศึกษาได้ 3 รูปแบบ ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัยรวมถึงระบบธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษา หรือระบบทะเบียนสะสมหน่วยกิตและกลไกในการเทียบโอนความรู้หรือสมรรถนะที่ได้จากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และจากประสบการณ์ส่วนบุคคล สำหรับเก็บสะสมไว้ในธนาคารหน่วยกิต ทำให้ผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิต จากการเรียนรู้ในแต่ละรูปแบบ
เพื่อนำไปสู่การออกวุฒิทางการศึกษาเมื่อมีจำนวนหน่วยกิตตามเงื่อนไขที่กำหนด

กลุ่มที่ 2 รองรับความหลากหลายของผู้เรียน ทั้งในส่วนของการสอนภาษาไทยโดยใช้ภาษาแม่เป็นฐาน (ทวิภาษา/ พหุภาษา) การพัฒนาครูพหุวัฒนธรรม และศูนย์ประสานงานการสนับสนุนด้านภาษาและวัฒนธรรม เพื่อช่วยให้นักเรียนกลุ่มชาติพันธุ์เข้าใจภาษาไทย โดยเชื่อมโยงจากภาษาท้องถิ่น สู่ภาษาไทย ผ่านการเรียนทักษะ ฟัง พูด จากภาษาท้องถิ่นก่อน จึงมาเรียนเป็นภาษาไทย และการศึกษาเพื่อการสร้างพลเมือง (Civic Education) คือกระบวนการทางการศึกษาที่เน้นการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และสังคมศาสตร์ของผู้เรียน เพื่อสร้างพลเมืองที่มีส่วนร่วมและรับผิดชอบต่อระบบสังคมการเมือง การตัดสินใจ และการพัฒนาชุมชน ประโยชน์ของการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองต่อผู้เรียน รวมถึง Office of student well-being โดยการดูแลสุขภาวะทางจิตใจของนักเรียนเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากมีผลต่อสมรรถนะในการเรียนรู้และพัฒนาการตัวตนของนักเรียน ในการประเมิน PISA แม้ว่าโรงเรียนจะสามารถจัดกิจกรรมช่วยดูแล สุขภาวะทางจิตและลดความเครียดหรือปัญหาทางจิตใจที่อาจเกิดขึ้นกับนักเรียนได้ในระดับหนึ่ง เช่น การให้คำแนะนำ การจัดกิจกรรมที่เน้นการพัฒนาทักษะ
ทางจิตใจ เช่น การทำสมาธิ การให้คำปรึกษา หรือการเรียนรู้เทคนิคการจัดการ ความเครียด การจัดการอารมณ์ การกำกับตนเอง เป็นต้น

กลุ่มที่ 3 เชื่อมโยงศาสตร์และองค์ความรู้ โดยการนำนวัตกรรมการสอนแบบบูรณาการ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ ที่ใช้ความรู้ ความเข้าใจจากศาสตร์วิชามากกว่า 1 วิชาขึ้นไป ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้ผู้เรียนได้ประยุกต์ใช้ความรู้จากวิชาต่างๆ มาแก้ปัญหาในชีวิตจริง มีหลายนวัตกรรมการสอนที่สามารถจัดอยู่ในรูปแบบบูรณา การ เช่น Problem Based Learning, Research Based Learning, Phenomenal Based Learning, Project Based Learning เป็นต้น ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้ มีความคล้ายคลึงกันคือ มีการกำหนดโจทย์ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนสงสัย และต้องใช้ความรู้หลายวิชามาประยุกต์เพื่อแก้ไขปัญหา ครูปรับบทบาทเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ และมีการประเมินผลจากชิ้นงาน ที่ปัจจุบันมีหลายองค์กรที่พัฒนานวัตกรรมการสอนรูปแบบดังกล่าว แต่การขยายผลยังเป็นไปได้ยาก ทั้งการอบรมพัฒนาครู ในปัจจุบันที่ถูกผลิตมาแบบแยกรายวิชาเอก การบูรณาการตัวชี้วัดหลายวิชาเข้าด้วยกัน ไปจนถึงการจัดคาบเรียนให้เป็นแบบบูรณาการในชั่วโมงปกติ แต่ส่วนใหญ่ต้องใช้จัดการสอนในวิชาเพิ่มเติม ซึ่งมักจะไม่มีการสอน วัดและประเมินผลอย่างเป็นระบบ และการจัดการเรียนการสอนโดยบุคลากรที่ไม่ใช่ครู (Saturday School / Teach for Thailand) เพื่อเปิดโอกาสให้ครูที่สอนในสถานศึกษาโดยเฉพาะในโรงเรียนรัฐสายสามัญ และสายอาชีพ จะต้องจบตามรายวิชาที่ถูกกำหนดในหลักสูตรแกนกลาง และมีใบประกอบวิชาชีพครู ซึ่งออกโดยคุรุสภา แต่ในปัจจุบันการสอนวิชาอื่นๆ มีความจำเป็นมากขึ้น เช่น วิชา Coding, STEM, จิตวิทยา, E-sports, AI, ผู้ประกอบการ เป็นต้น แต่ภายใต้ระบบการบรรจุครูปัจจุบัน ยังไม่เอื้อให้เกิดความยืดหยุ่นในการรับครูมาสอนวิชาใหม่ๆ จะจ้างได้ต้องเป็นครูอัตราจ้าง ซึ่งผลตอบแทนไม่ดี ไม่มีความก้าวหน้าทางอาชีพ

กลุ่มที่ 4 เชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้อง การสร้างนิเวศการเรียนรู้ระดับชุมชน โดยใช้ฐานทุนทางวัฒนธรรม ประเพณี สิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาที่สามารถหยิบจับขึ้นมาสร้างการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน และการเชื่อมโยงการทำงานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา หรือ Education Sandbox ให้เป็นกลไกสำคัญในการปลดล็อกทางกฎหมายเพื่อสร้างอิสระในการบริหารจัดการด้านต่างๆ เช่น การเลือกใช้หลักสูตรอื่นนอกจากหลักสูตรแกนกลาง และการสร้างกลไกการบริหารจัดการการศึกษาระดับพื้นที่ (Area-based management) โดยสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนและประชาสังคม ระดมทรัพยากรมาร่วมกันพัฒนาโรงเรียนและผู้เรียน

โดยทั้งหมดนี้ สกสว. และ คณะทำงานวิชาการ SAT การศึกษาและการเรียนรู้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนร่วมกับขับเคลื่อน ยกระดับผลสัมฤทธิ์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และแนวปฏิบัติที่ดี ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ทดลอง และเกิดการขยายผลต่อไป

ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๑๖:๑๐ ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๑๖:๕๒ โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๑๕:๒๖ กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๑๕:๐๑ สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๑๕:๒๙ 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๑๕:๐๘ โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๑๕:๕๒ electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version