สำหรับแนวป้องกันตนเองบางแห่งที่มีระดับคันกั้นน้ำต่ำและไม่มีความมั่นคงแข็งแรง หรือแนวฟันหลอ กทม. ได้จัดเรียงกระสอบทราย เพื่อเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมชั่วคราว โดยบริเวณที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างปิดแนวฟันหลอและอยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณ รวมถึงช่องเปิดท่าเรือต่าง ๆ ได้จัดเรียงกระสอบทราย ความสูง +2.40 ถึง +2.70 ม.รทก. (เมตร.ระดับทะเลปานกลาง) ความยาว 4.35 กิโลเมตร (กม.) โดยใช้กระสอบทราย 248,300 ใบ
ส่วนแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ความยาวรวม 88 กม. แบ่งเป็น แนวป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพฯ ความยาว 80 กม. โดยความยาวรวม 8.0 กม. แบ่งเป็น แนวป้องกันตนเองที่มีความสามารถในการป้องกันน้ำท่วมได้ ความยาว 3.65 กม. และจุดแนวฟันหลอ ความยาวรวม 4.35 กม. ซึ่งจะต้องเร่งก่อสร้างทั้งหมด 32 แห่ง ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 14 แห่ง ความยาว 1.43 กม. อาทิ ท่าเรือเทเวศร์ องค์การสะพานปลา และชุมชนวังหลัง เป็นต้น คงเหลือจุดแนวฟันหลออีก 18 แห่ง ความยาว 2.92 กม. อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 11 แห่ง ความยาว 1.75 กม. เช่น พระรามที่ 3 ซอย 24 แยกเจริญราษฎร์ และองค์การสะพานปลา เป็นต้น และอยู่ระหว่างดำเนินการของบประมาณ 7 แห่ง ความยาว 1.17 กม. เช่น วัดจันทร์สโมสร ชุมชนโรงสี และคลังเก็บเอกสารกรุงไทย เป็นต้น
นอกจากนี้ กทม. มีแผนเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 2567 โดยลดระดับน้ำตามคูคลองให้อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงลดระดับน้ำในแก้มลิงอีก 35 แห่ง และบ่อสูบน้ำ 376 แห่ง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำชั่วคราวในพื้นที่จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณถนนสายหลัก พื้นที่ชุมชน และพื้นที่จุดอ่อนน้ำท่วมในถนนซอย เตรียมความพร้อมอุโมงค์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ประตูระบายน้ำ 248 แห่ง และสถานีสูบน้ำ 195 แห่ง จัดเตรียมความพร้อมอุปกรณ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าถาวร 2 จุด รถเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 17 คัน รถโมบายยูนิต 9 คัน เครื่องสูบน้ำไฮดรอลิก 99 เครื่อง เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ดีเซล 80 เครื่อง เครื่องสูบน้ำหางอ่อน 17 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 38 เครื่อง และหน่วยบริการเร่งด่วน (หน่วย BEST) เพื่อช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ขณะเดียวกันได้จัดเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะตะแกรงท่อระบายน้ำ ขยะหน้าตะแกรงสถานีสูบน้ำและบ่อสูบน้ำในขณะที่มีฝนตก เพื่อเร่งระบายน้ำให้ไหลเข้าระบบได้สะดวกรวดเร็ว ตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำไฟฟ้า ตู้เมนไฟฟ้าให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ ได้แก่ การล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำความยาว 4,309.6 กม. ขุดลอกคูคลอง 184 คลอง เปิดทางน้ำไหล 1,330 คลอง จัดเก็บขยะวัชพืช รวมถึงแก้ไขสิ่งกีดขวาง ทางน้ำบริเวณใต้สะพานและท่อลอดต่าง ๆ ตลอดจนจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝน เฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ โดยจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนที่เกิดเหตุน้ำท่วม หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง 50 เขต ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 67 นอกจากนี้ ปลัด กทม. ยังได้สั่งการให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตสำรวจชุมชนที่มีปัญหาน้ำท่วมให้เร่งเข้าแก้ไขปัญหาทันที
ที่มา: กรุงเทพมหานคร