หนึ่งในก้าวเล็กๆ ของแนวทางนี้ก็คือ ตู้ EV Charger ผลงานของ 3 นักศึกษาปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ประกอบด้วย นางสาวพลอยพรรณ สุขประเสริฐ (น้องเนย), นายสิทธิเดช สุนันทโชติหิรัญ (น้องที) และนางสาวอิสระยา แก่นแก้ว (น้องแอล) ภายใต้โปรเจกต์ปี 4 ในหัวข้อ "การออกแบบและสร้างเครื่องอัดประจุแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า"
นายสิทธิเดช หรือน้องที กล่าวถึงที่มาของงานนี้ว่า ตนเองและเพื่อนได้มีโอกาสดูคลิปการทำ EV Charger สำหรับรถยนต์ EV ของช่างไทย ที่อาจารย์ที่ปรึกษาส่งมาให้ดูตอนเรียนอยู่ปี 3 เทอม 2 จึงปรึกษาอาจารย์ว่าความรู้ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าที่เรียนมา 3 ปี และในปี 4 จะสามารถนำมาสร้างกล่องแผงวงจรเพื่อควบคุมการจ่ายไฟให้รถยนต์ EV ได้หรือไม่ จนเกิดเป็นโปรเจกต์ตอนปี 4 ขึ้นมา โดยความคาดหวังของพวกเราตอนนั้นคือ อยากจะสร้างแผงวงจรที่สามารถควบคุมการชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับที่ได้มาตรฐานเดียวกับกล่อง EV Charger ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด
"ในกล่อง EV Charger ที่มีในท้องตลาดนั้น จะต้องมีทั้งวงจรป้องกันไฟรั่ว ระบบสายดิน ระบบควบคุมแรงดันไฟฟ้า ระบบสื่อสารสัญญาณเพื่อตรวจสอบสถานการณ์ชาร์จ และระบบตัดไฟเมื่อพบปัญหา ซึ่งจะมีมาตรฐานสากลของแต่ละระบบกำหนดไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นในการออกแบบและสร้างแผงวงจรเพื่อควบคุมระบบเหล่านี้ จึงมีเป้าหมายคือการปรับแต่งให้ค่าสัญญาณต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการทดลองชาร์จประจุเป็นไปตามมาตรฐานสากล (J1772) โดยในปี 4 เทอม 1 จะเป็นการศึกษาด้วยการจำลอง (Simulation) ผ่านโปรแกรม ก่อนที่จะมีการสร้างแผงวงจรและทดสอบจริงในเทอมที่ 2 ซึ่งในส่วนของผมรับผิดชอบด้านฮาร์ดแวร์ เช่น การทำแผ่นพรินท์ (PCB) เป็นหลัก"
ด้านนางสาวอิสริยา หรือน้องแอล ผู้ทำหน้าที่เขียนโค้ดและซอฟต์แวร์ กล่าวถึงการทำงานของ EV Charger ที่พัฒนาขึ้นมาว่า เมื่อเสียบปลั๊กชาร์จเข้ากับตัวรถ ระบบจะมีการสื่อสารสัญญาณกับรถทันทีที่เสียบปลั๊ก และเมื่อตรวจสอบเสร็จสิ้น ก็จะเริ่มชาร์จไฟเองโดยอัตโนมัติ และหยุดจ่ายได้เมื่อประจุไฟให้แบตเตอรี่ได้ตามค่าที่กำหนด หรือตามเวลาที่กำหนด (สามารถเลือกได้) โดยทุกขั้นตอนจะมีการส่งข้อความแจ้งเจ้าของรถได้รู้ผ่านหน้าจอของตู้และผ่าน Wifi ไปแสดงบนจอมือถือได้อีกด้วย โดยกล่อง EV Charger ต้นแบบนี้สามารถใช้ได้ทั้งไฟฟ้ากระแสสลับแบบ 1 เฟส ที่กำลังชาร์จสูงสุด 16 แอมป์ หรือไฟฟ้ากระแสสลับแบบ 3 เฟส ที่กำลังชาร์จได้สูงสุด 32 แอมป์ โดยทุกกระบวนการเป็นไปตามมาตรฐานสากลทุกประการ
ส่วน นางสาวพลอยพรรณ หรือน้องเนย ซึ่งรับผิดชอบหลักด้านการหาข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานของระบบต่างๆ บนแผงวงจรของ EV Charger กล่าวว่า "หน้าที่อีกอย่างหนึ่งของตนเองคือการจัดหา นอกจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงการสั่งพิมพ์แผ่นพรินท์ (Printed Circuit Board: PCB) ที่สิทธิเดช (ที) เป็นคนออกแบบก็ยังติดต่อกับบริษัทผลิตเบรกเกอร์ เพื่อขอความอนุเคราะห์ตัวเบรกเกอร์ตัดไฟรั่วและเบรกเกอร์ตัดไฟเกินมาใช้กับโปรเจกต์นี้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย กับการประสานขอโครงตู้เก่าของมหาวิทยาลัย มาทำเป็นตู้ชาร์จอีกด้วย ทำให้ EV Charger ซึ่งทำให้จากต้นทุนอุปกรณ์ที่ต้องจ่ายจริงหลายหมื่นบาทก็เหลือไม่ถึงหมื่นบาท นอกจากนี้ยังได้ความรู้ที่ทำให้ตอนนี้พวกเราสามารถทำกล่อง EV Charger กล่องที่ 2 กล่องที่ 3 ให้มีมาตรฐานเทียบเท่ากล่องราคาหลักหมื่นในท้องตลาด ด้วยต้นทุนค่าอุปกรณ์ไม่เกิน 5 พันบาท"
ด้าน ผศ.ดร.สุภาพงษ์ นุตวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ อาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวเสริมว่า ตัวโปรเจกต์การพัฒนาแผงวงจรควบคุมการชาร์จประจุให้กับรถยนต์ EV นี้ สามารถต่อยอดเป็นงานของน้องรุ่นต่อไปได้ในได้หลายแง่มุม ทั้งการพัฒนาให้สามารถใช้กับการชาร์จกระแสตรง การทำให้แผงวงจร 1 ชุดสามารถชาร์จไฟให้รถยนต์ได้พร้อมกันมากกว่า 1 คัน ระบบข้อมูลและควบคุมการชาร์จผ่านเครือข่ายมือถือโดยตรง ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะผลิต EV Charger เพื่อวางจำหน่าย ทั้งในแง่การเลือกสั่งวัสดุอุปกรณ์ของที่ได้มาตรฐานและคุ้มราคา หรือด้านการปรับตั้งค่า (Set Up) สัญญาณต่างๆ ของ EV Charger ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ที่สำคัฐคือได้ตามมาตรฐานเครื่องชาร์จประจุรถยนต์ EV ของไทยที่อาจมีการประกาศใช้ในระยะต่อไป
ที่มา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี