ผศ.ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า การอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ มุ่งเน้นการให้ความรู้ที่ผสมผสานระหว่างภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าอบรมได้ทดลองปฏิบัติจริงกับรถยนต์หลากหลายประเภท ทั้งเครื่องยนต์ดีเซล เบนซิน และรถยนต์ไฟฟ้า หลักสูตรนี้ครอบคลุมเนื้อหาที่ทันสมัยและตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ อาทิ การปรับจูนยานยนต์ไฟฟ้า ระบบการทำงานของกล่องควบคุม การ Update Firmware และ Chip tuning และ ค่าพารามิเตอร์ต่างๆ ในโปรแกรม Win OLS เป็นต้น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับในวงการ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาและวิทยาลัยเทคนิคทั่วประเทศ รวมถึงผู้ที่สนใจและผู้ประกอบการด้านอู่ซ่อมรถยนต์ รวมจำนวนกว่า 100 คน
"การอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีเป้าหมาย คือ การยกระดับความรู้และทักษะของบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์ ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งหวังว่าความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการอบรมครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปฏิบัติงานและการประกอบวิชาชีพในอนาคต และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ" ผศ.ดร.ชัยพร กล่าว
พันตรี พิพัฒน์พงศ์ ปรีเปรม อาจารย์ประจำหลักสูตรและผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมยานยนต์ กล่าวในฐานะวิทยากรว่า การอบรมครั้งนี้มุ่งเน้นการจุดประกายความสนใจในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ทั้งในแง่ธุรกิจและการศึกษา หลักสูตรนี้ครอบคลุมเนื้อหาหลากหลาย ตั้งแต่เครื่องยนต์เบนซินและดีเซลสมัยใหม่ ไปจนถึงระบบรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการ Programming และ Coding Program ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมซ่อมบำรุงรถยนต์ โดยในอนาคตจะมีการจัดอบรมหลักสูตรเฉพาะทางเพิ่มเติม และใน Workshop ครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ที เอส เอ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด (Autel Thailand) ที่นำเครื่องมือวิเคราะห์ยานยนต์สมัยใหม่มาให้ผู้เข้าอบรมได้ทดลองปฏิบัติจริงอีกด้วย
นายสหภัทร์ อธิคมชัยวงศ์ บริษัท ที เอส เอ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความยินดีที่ได้ทำความร่วมมือด้านวิชาการกับ CITE DPU โดยให้การสนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการอบรมด้านยานยนต์สมัยใหม่ อาทิ เครื่องวิเคราะห์รถยนต์และระบบควบคุมความปลอดภัย ซึ่งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่ใช้กับรถยนต์สมัยใหม่ ในปัจจุบันการซ่อมบำรุงรถยนต์ต้องอาศัยความรู้และทักษะที่สูงขึ้น เนื่องจากรถยนต์สมัยใหม่ใช้ซอฟต์แวร์ในการโปรแกรมการทำงาน ต่างจากในอดีตที่ช่างยนต์สามารถซ่อมได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้รถยนต์บางรุ่นยังมี eSIM และระบบออนไลน์ ดังนั้นช่างซ่อมรถที่มีความรู้และมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ จะสามารถวิเคราะห์ปัญหาและระบุอุปกรณ์ที่เสียได้อย่างแม่นยำ ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการซ่อม
"หลักสูตรการอบรมด้านเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคในหลายด้าน เช่น ช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อรถยนต์ และเพิ่มทักษะในการซ่อมบำรุง ปัจจุบันความต้องการแรงงานด้านยานยนต์สมัยใหม่สูงมาก ผู้ที่มีความรู้ด้านนี้จะมีโอกาสในการทำงานและสร้างรายได้มากกว่าผู้ที่เรียนวิศวกรรมยานยนต์แบบเดิม" นายสหภัทร์ กล่าว
นายศุภอรรถ ธรรมรัตน์ อาจารย์วิทยาลัยเทคนิคอุตสาหกรรมยานยนต์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า เข้าอบรมเพราะอยากได้ความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยียานยนต์ เพื่อที่จะนำไปถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์ต่อไป การอบรมครั้งนี้มีประโยชน์มาก หวังว่าจะมีการจัดอบรมเช่นนี้อีก โดยอยากให้เปิดอบรมเกี่ยวกับรถยนต์ Hybrid เชิงลึก ซึ่งกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก
สำหรับการอบรมดังกล่าว ยังเป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์หลักสูตร วิศวกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่ง CITE DPU เตรียมเปิดการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2568 โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษามีทักษะทั้งการออกแบบและสร้างชิ้นงานได้จริง ผ่านโครงงานที่นักศึกษาทุกคนต้องลงมือปฏิบัติ หลักสูตรนี้ยังผสานความรู้ด้านหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ากับเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ โดยได้รับความร่วมมือจากพันธมิตร อาทิ Autel Thailand, Arrow Energy และกำลังดำเนินการความร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน โดยจุดเด่นของหลักสูตรคือ นักศึกษาจะได้ไปทัศนศึกษาที่ประเทศจีน พร้อมเรียนภาษาจีนและภาษาอังกฤษเฉพาะทางเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ตลาดแรงงานระดับสากล
ผู้สนใจ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://cite.dpu.ac.th/ โทร .02-954-7300 ต่อ 594, 498
ที่มา: มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์