เอบีม คอนซัลติ้ง เผยกลยุทธ์เร่งการลดคาร์บอนในประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น

ศุกร์ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๗ ๐๙:๑๔
เอบีม คอนซัลติ้ง ร่วมสนับสนุนงาน "NIKKEI Digital Forum in Asia" ซึ่งจัดโดย Nikkei Inc. และ Nikkei BP ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันอังคารที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีนายเคอิจิ โฮริเอะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นวิทยากรพิเศษบรรยายในหัวข้อเรื่อง " Accelerating Thailand Decarbonization with Japanese Advanced Technology and Philosophy" ซึ่งมีประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจมากมายดังนี้
เอบีม คอนซัลติ้ง เผยกลยุทธ์เร่งการลดคาร์บอนในประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น

ภาพรวมปัจจุบันของ Green Transformation (GX) ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยและญี่ปุ่น

ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกา ด้วยมาตรการทางกฎหมายเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ซึ่งมีเป้าหมายมุ่งเน้นไปที่การลดการปล่อยคาร์บอน และปูทางให้ผู้บริโภคหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ส่งผลกระทบเชิงบวกให้เกิดการตื่นตัวเรื่อง GX ในอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายการควบคุมก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐอเมริกาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) ลงร้อยละ 50-52 เพื่อให้ต่ำกว่าระดับการปล่อยก๊าซในปีพ.ศ. 2547 และให้สำเร็จได้ภายในปี 2573 ขณะที่ในยุโรปก็มีการผลักดันมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนหรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ซึ่งเป็นมาตรการที่สหภาพยุโรป (EU) กำหนดขึ้นเพื่อมุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่ประเทศคู่ค้านอกสหภาพยุโรป และกำลังจะถูกนำมาบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในปีพ.ศ. 2569 เป็นต้นไป ซึ่งในปัจจุบันได้เริ่มมีนำร่องมาตรการดังกล่าวมาใช้กับกลุ่มสินค้าบางชนิดแล้ว เช่น ซีเมนต์ อะลูมิเนียม และคาดว่าจะมีการขยายหมวดหมู่สินค้าเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

ในทางกลับกัน ประเทศจีนและอินเดียกำลังกำหนดนโยบายเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดการปล่อยคาร์บอนในประเทศของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน ที่ภาครัฐและบริษัทองค์กรต่างๆ กำลังทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมความพยายามในการลดการปล่อยคาร์บอน อย่างเช่นการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีปริมาณกำลังการผลิตในปีพ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ของกำลังการผลิตทั้งหมดของโลก ซึ่งการสร้างความสมดุลตเรื่องดังกล่าวทั้งในประเทศไทยและญี่ปุ่นเอง ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลานาน

โดยภาพรวมของสถานการณ์ในประเทศไทยและญี่ปุ่นนั้น หากเรามองในแง่ของลักษณะทางด้านภูมิศาสตร์ ประเทศญี่ปุ่นถือว่าเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zones : EEZ) หรือหมายถึงบริเวณที่อยู่ถัดออกไปจากทะเลอาณาเขต มีความกว้างไม่เกิน 200 ไมล์ทะเลจากเส้นฐานที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต ขณะที่ประเทศไทยกลับมีพื้นที่ทางด้านเกษตรกรรมจำนวนมาก แต่หากมองถึงความสามารถในการนำเอาพลังงานธรรมชาติมาใช้ ญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้นๆ ที่มีกำลังการติดตั้งและผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ต่อพื้นที่ค่อนข้างสูง หากแต่ปัจจุบันเริ่มมีการชะลอตัวลงในอุตสาหกรรม ในทางกลับกัน ประเทศไทยมีพื้นที่ทางด้านเกษตรกรรมที่กว้างขวาง ที่ดูเหมือนว่าจะมีศักยภาพสูงในการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ แต่ก็มีฤดูฝนที่ทำให้ยากต่อการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้อย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี จากที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น ศักยภาพของการใช้พลังงานธรรมชาติจะแตกต่างกันไปอย่างมากขึ้นอยู่กับลักษณะทางภูมิศาสตร์และอาณาเขตของแต่ละประเทศ

ปัจจุบันญี่ปุ่นกำลังมุ่งพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดเพอรอฟสไกต์ (Perovskite Solar Cell: PSC ) โดยเล็งเห็นว่าอาจช่วยในการแก้ปัญหาการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงฤดูฝนได้ เซลล์แสงอาทิตย์เพอรอฟสไกต์เป็นเซลล์แสงอาทิตย์รูปแบบหนึ่งที่มีโครงสร้างเป็นผลึกที่รู้จักกันในชื่อ Perovskite Structure มีประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานที่ใกล้เคียงกับเซลล์แสงอาทิตย์ที่ใช้ซิลิกอนทั่วไปและเซลล์แสงอาทิตย์แบบผสมผสาน มีจุดเด่นที่น้ำหนักเบาและมีความยืดหยุ่น ทำให้สามารถติดตั้งบนผนังอาคารได้ ซึ่งแตกต่างจากการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดซิลิกอนเป็นทำได้ยากกว่า และบนหลังคาที่มีความสามารถในการรับน้ำหนักต่ำ และเนื่องจากสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ในวันที่มีเมฆมาก รวมถึงมีต้นทุนการผลิตที่แข่งขันได้ ด้วยเหตุนี้เซลล์แสงอาทิตย์ชนิดเพอรอฟสไกต์ (Perovskite Solar Cell: PSC ) จึงกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริม GX

สถานการณ์ด้านพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทยและญี่ปุ่น

แม้ว่าภาพรวมพลังงานหมุนเวียนส่วนใหญ่ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกคือพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม แต่ในประเทศไทย พลังงานหมุนเวียนส่วนใหญ่กลับมาจากแหล่งพลังงานชีวมวล ซึ่งในญี่ปุ่นคิดเป็นสัดส่วนการใช้งานเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีลักษณะเฉพาะและความพรั่งพร้อมด้วยทรัพยากรทางการเกษตรเพียงใด นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีศักยภาพสำหรับการเติบโตของพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์โดยการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดเพอรอฟสไกต์ (Perovskite Solar Cell: PSC ) อีกด้วย

ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น สืบเนื่องจากพันธกิจในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนให้เกิดขึ้น โดยมีการกำหนดเป้าหมายระยะกลางให้สำเร็จได้ในปีพ.ศ. 2573 นั้น ได้มีการกำหนดเป้าหมายให้แหล่งพลังงานในการผลิตไฟฟ้ามาจากพลังงานหมุนเวียนเป็นสัดส่วนร้อยละ 36-38 โดยมีสัดส่วนตัวเลขเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าเมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2562

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ญี่ปุ่นจึงได้จัดทำ "กลยุทธ์การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปีพ.ศ. 2593 (Green Growth Strategy 2050)" ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม โดยได้กำหนด 14 ประเภทธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตภายใต้นโยบายการสนับสนุนดังกล่าว นอกจากนี้ ยังได้ออกร่างกฎหมายส่งเสริม GX เพื่อเป็นการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว ประเมินมูลค่ากว่า 20 ล้านล้านเยน (140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อเป็นการเร่งสร้างนวัตกรรมในสาขา GX อีกด้วย

สำหรับประเทศไทยเอง ก็มีนโยบายและแผนพลังงานหมุนเวียน เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
(Carbon Neutrality) โดยกระทรวงพลังงาน ได้มีการแสดงกรอบแผนพลังงานแห่งชาติสำหรับความเป็นกลางทางคาร์บอนระหว่างปี พ.ศ. 2608- 2613 เป้าหมายคือการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 พิจารณาร่วมกับต้นทุนระบบกักเก็บพลังงานระยะยาว นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าผลักดันให้นโยบาย "ประเทศไทย 4.0" เกิดขึ้นจริง ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 เป็นต้นมา โดยโมเดลเศรษฐกิจดังกล่าวจะนำเอาไบโอเทคโนโลยีมาประยุกต์กับพืชผลทางการเกษตรซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ไบโอพลาสติก ผลิตภัณฑ์ชีวเคมี รวมไปถึงการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายสิ่งที่ญี่ปุ่นสามารถเรียนรู้จากความพยายามของประเทศจีนในการบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอน ในขณะเดียวกันก็ใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของตนเองเพื่อให้บรรลุการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอาจมอบโอกาสทางธุรกิจให้กับภาคธุรกิจต่างๆ อีกด้วย

โครงการ AZEC (Asia Zero Emission Community) จากประเทศญี่ปุ่น

AZEC เป็นโครงการริเริ่มโดยประเทศญี่ปุ่น เพื่อรวมกลุ่มประเทศพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดจนสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในภูมิภาคเอเชีย ปัจจุบันมี 11 ประเทศพันธมิตรเข้าร่วม โดยทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนอย่างครอบคลุมทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน เทคโนโลยี และการเพิ่มพูนศักยภาพ ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดตัวโครงการริเริ่มถึง 3 โครงการด้วยกัน ได้แก่

  1. โครงการส่งเสริมไฟฟ้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยในการประชุม COP28 ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการตกลงร่วมกันที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นสองเท่า และเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเป็นสามเท่าภายในปีพ.ศ. 2573 แต่ก็ยังมีข้อขัดแย้งในบางประเด็นเกี่ยวเนื่องกับจุดยืนเรื่องเชื้อเพลิงฟอสซิล หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินในกลุ่มประเทศพันธมิตร AZEC ที่ปัจจุบันยังต้องพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงดังกล่าวอย่างมากอยู่ ดังนั้นนอกเหนือจากเรื่องส่งเสริมการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide Capture and Storage: CSS) แล้ว การเพิ่มศักยภาพให้กับโครงข่ายไฟฟ้า ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนทางพลังงาน และความร่วมมือในด้านนี้ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ
  2. โครงการส่งเสริมตลาดเชื้อเพลิงที่ยั่งยืน โดยประเทศพันธมิตร AZEC รวมถึงประเทศไทย คาดว่าจะมีปริมาณยานยนต์ เครื่องบิน และเรือเพิ่มมากขึ้น ทำให้การเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในภาคการขนส่งมีความจำเป็นอย่างมาก โดยโครงการนี้มุ่งหวังที่จะสร้างเครือข่ายการจัดหาพลังงานเชื้อเพลิงที่ยั่งยืน ซึ่งคาดว่าจะมีศูนย์กลางอยู่ที่ภูมิภาคเอเชีย และศึกษาความเป็นไปได้ของพลังงานเชื้อเพลิงที่ยั่งยืนโดยใช้ทรัพยากรต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงเชื้อเพลิงชีวมวล โดยโครงการนี้อาจเป็นโครงการที่ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากศักยภาพทางด้านชีวมวลได้
  3. โครงการริเริ่มเพื่อสร้างอุตสาหกรรมยุคใหม่ ทั้งนี้ ในภูมิภาคเอเชีย ภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของ GDP เป็นอย่างมาก ดังนั้น การทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมถือเป็นสิ่งสำคัญในอนาคต อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขนาดการลงทุนที่บริษัทแต่ละแห่งสามารถทำได้นั้นมีจำกัด จึงมีการหารือเกี่ยวกับวิธีการลดการปล่อยคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยคาร์บอนเป็นกลาง

เอบีม คอนซัลติ้ง พร้อมให้การสนับสนุนด้าน GX ทั้งในญี่ปุ่นและทั่วภูมิภาคเอเชีย

เอบีม คอนซัลติ้ง จับมือร่วมกับ Sumitomo Corporation ในฐานะพันธมิตรร่วมจัดตั้ง "GX Concierge" เพื่อให้บริการที่ปรึกษาในการส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทและองค์กรสามารถตอบสนองต่อประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนกระบวนการ GX ในองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ผ่านบริการที่หลากหลายตั้งแต่การวางกรอบความคิด (Conceptualization) ไปจนถึงโซลูชันที่สามารถใช้งานได้จริงสำหรับวาระต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการส่งเสริม GX โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่ ด้านการจัดหาพลังงาน ด้านอุปสงค์ของผู้บริโภค และการสร้างแบบจำลองอุปสงค์และอุปทานใหม่สำหรับพลังงานหมุนเวียน

ล่าสุดด้วยความร่วมมือกับคณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น-อาเซียน หรือ AMEICC เอบีม คอนซัลติ้ง ได้ดำเนินโครงการฝึกอบรมสำหรับบุคลากรองค์กรเพื่อส่งเสริม GX และสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน (Sustainable Supply Chain) ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงการจับคู่ธุรกิจกับสถาบันการเงินและผู้จำหน่ายโซลูชัน ในอนาคต การลงทุนในโรงงานพลังงานหมุนเวียนและสิ่งอำนวยความสะดวกในการส่งและจำหน่ายไฟฟ้าที่คาดว่าจะขยายตัวมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้เกิดตลาดพลังงานที่หลากหลาย ในฐานะประเทศที่ต้องเผชิญกับความท้าทายเดียวกันในการบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอน รวมถึงการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เอบีม คอนซัลติ้ง หวังว่ากรณีศึกษาและเทคโนโลยีของญี่ปุ่นจะถูกนำมาใช้ขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การบรรลุเป้าหมายด้าน GX ได้อย่างสูงสุดและยั่งยืน

ที่มา: ฟีนอมมีนอล พีอาร์

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ