โมเดลการทำงานของ สคล.ได้รับการพัฒนาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงมีหมุดหมายเดิม คือ รณรงค์ให้มีการ ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และในปี 2567 ปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานโดยเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ซึ่งการดำเนินงานจะแตกต่างกันตามบริบทพื้นที่
นายมุสตอฝา สุขมาศ ผู้ประสานงานเครือข่ายงดเหล้า จังหวัดสตูล เล่าว่า ปีนี้เราทำงานกับ 8 ชุมชน เป็นชุมชนงดเหล้างด-บุหรี่ สำหรับภาพรวมของการงดเหล้าที่ตำบลคลองขุด และตำบลพิมาน เราใช้หลักสูตร So brink So club ให้แกนนำ ไปช่วย ชม เชียร์ คนในชุมชนของตัวเอง สำหรับกิจกรรมที่ทางเครือข่ายดำเนินการ คือ การสร้างกระแสโดยผู้นำท้องถิ่นเป็นผู้นำกล่าวปฏิญาณตนงดเหล้าฯ ในส่วนของตำบลพิมาน ซึ่งมีพี่น้องไทยพุทธบางคนดื่มเหล้าอยู่ได้ดำเนินการในเรื่องงานศพปลอดเหล้า ถ้างานศพไหนที่ไม่เลี้ยงเหล้า ทางประชาคมกับแกนนำงดเหล้า จะไปมอบพวงหรีดให้กับเจ้าภาพ และมีการติดป้ายยกย่อง
"ในปีนี้เราจะสร้างวิทยากร 2 ตำบลนี้ ให้สามารถนำเรื่องของ So brink So club ไปถ่ายทอดให้กับ ชุมชน ได้ใช้สมุนไพรใกล้ตัว ในการดูแลสุขภาพของตนเอง ซึ่ง So brink So club ไม่ใช่เรื่องของคนงดเหล้าเท่านั้น แต่รวมถึงคนที่อยากดูแลสุขภาพของตัวเองด้วย ถือเป็นการสร้างกิจกรรมดี ๆ ให้กับชุมชน การจัดกิจกรรมที่ผ่านมาได้รับการตอบรับอย่างดี ไม่ใช่แค่คนงดเหล้าเท่านั้นที่มาร่วมกิจกรรม ยังมีคนในครอบครัวและรอบข้างของเขาเข้าร่วมด้วย So brink So club ทำให้ขยายเครือข่ายไปได้มากทีเดียว ทำให้ในกิจกรรมเราสามารถสื่อสารการรณรงค์เรื่องงดเหล้าไปด้วยได้โดยที่เขาไม่รู้สึกโต้แย้ง เนื่องจากเราสื่อสารกับชุมชนเรื่องสุขภาพเป็นหลัก เขาห่วงสุขภาพก็จะค่อยๆห่างเหล้าไปเอง อีกประเด็น คือ ให้เขาเห็นถึงค่าใช้จ่ายที่สามารถประหยัดได้ เราจะไม่ห้าม ไม่บังคับ ให้เขาสมัครใจเองจะเกิดความยั่งยืนมากกว่า" นายมุสตอฟา กล่าว
นางสุทิศา เหล่าธง ประธานกลุ่มพลังหญิงหัวใจเพชร ต.หนองซน อ.นาทม จ.นครพนม เล่าว่า นอกจากกิจกรรมที่ทำทุกปีในช่วงงดเหล้าเข้าพรรษา ไม่ว่าจะเป็นการปฏิญาณตน รวมถึงกลไกติดตาม ช่วย ชม เชียร์ ลด ละ เลิก อย่างเข้มข้นแล้ว กิจกรรมที่ยังทำต่อเนื่อง คือ "งานศพปลอดเหล้า งานเศร้าปลอดการพนัน" โดยชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงค่าใช้จ่ายที่ลดลงจำนวนมากหากไม่มีการเลี้ยงเหล้า ทั้งยังไม่เกิดการทะเลาะวิวาทภายในงานอีกด้วย ซึ่งเจ้าภาพส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย เหตุนี้ งานศพภายในชุมชนจึงมีงานที่ปลอดเหล้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ขณะเดียวกันได้ขยายเครือข่ายงดเหล้าด้วยการชักชวนกลุ่มสตรีในชุมชนเข้าร่วมกลุ่มนางรำ โดยการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สร้างรายได้เป็นอาชีพเสริม ไม่ว่าจะเป็น การทำหมี่กรอบ แจ่วบอง กล้วยฉาบ ฯลฯ โดยมีกองทุนกลุ่ม (เงินออม) เป็นต้นทุนผลิตสินค้า และมีการปันผล 1 ครั้ง ต่อ ปี และมีแผนจะจัดตั้งกองทุนฌาปนกิจนางรำ โดยเก็บคนละ 100 บาท เพื่อนำไปช่วยเหลือกรณีคนในครอบครัวของสมาชิกกลุ่มเสียชีวิตอีกด้วย
"ในการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เราได้ชักชวนเด็ก ๆ ที่ติดตามแม่มาซ้อมรำ ให้จับกลุ่มตั้งเป็นวงดนตรีโปงลางขึ้นมา แม่รำ ลูกเล่นดนตรี โดยเชิญครูดนตรีอาสามาสอน เด็ก ๆ จะได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และยังมีรายได้จากการเล่นดนตรีอีกด้วย เรามองว่าการทำให้ยั่งยืน เราต้องเริ่มจากชุมชนเล็ก ๆ ของเรากันเองก่อน เมื่อชุมชนเราแข็งแรง ก็ค่อยๆ ขยายให้กว้างออกไป ซึ่งอาจต้องใช้เวลาแต่ท้ายที่สุด สังคมก็จะแข็งแรง"นางสุทิศา กล่าว
นางสาวอรชร สุรินทร์ ผู้ประสานงานกลุ่มเครือข่ายเยาวชน YSDN (Youth Strong & Development Network) จังหวัดเชียงราย เล่าว่า การขับเคลื่อนงานของจังหวัดเชียงราย จะขับเคลื่อนด้วย หลักการ "3+5" โดย 3 คือ 1.) สร้างคน 2.) สร้างเครือข่าย 3.) ขยายศักยภาพชุมชน ส่วน 5 คือ โมเดลขนมปัง 5 ชั้น ได้แก่ 1.) ข้อมูล 2.) เครือข่ายเยาวชน 3.) ผู้ใหญ่ใจดี 4.) กิจกรรมที่ทำร่วมกับพื้นที่ 5.) นโยบายสาธารณะ
กลุ่ม YSDN ซึ่งมีอยู่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เวียงชัย อ.พาน อ.แม่จัน อ.เชียงแสน และ อ.เทิง ซึ่ง YSDN จะทำกิจกรรม เรื่องคำพ่อสอน เป็นกิจกรรมโพธิสัตว์น้อย ลูกเขียนจดหมายขอพ่อแม่เลิกเหล้าในช่วงงดเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งกิจกรรมนี้ลูกๆจะคอยเป็นกำลังใจให้พ่อแม่เลิกเหล้าในช่วงเข้าพรรษา และเข้าไปทำกิจกรรมในโรงเรียน โดยให้ความรู้เรื่องบุหรี่ เหล้า และปัจจัยเสี่ยงในโรงเรียน ซึ่งมีนักเรียนเข้าร่วมโครงการ 1,500 คน (1 อำเภอ ต่อ 10 โรงเรียน 5 อำเภอ รวม 50 โรงเรียน) โดยเยาวชน YSDN จะดำเนินการในโรงเรียนประถมศึกษา และโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งมีผู้บริหารและแกนนำครูใจดีเข้าร่วม 100 คน
สำหรับการดำเนินงานในช่วงเข้าพรรษา เครือข่ายงดเหล้าจะช่วยกัน ทั้งชุมชนต้นแบบ ชมรมคนหัวใจเพชร และกลุ่มพลังหญิง โดยมีสมาชิกประมาณ 350 คน ที่ช่วยกันรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา และงานบุญต่างๆ โดยขบวนการจะมีคู่ buddy ในการเป็นที่ปรึกษา ชวน ช่วย ชม เชียร์ และติดตามผลว่าเข้าพรรษานี้
"สิ่งที่คาดหวังในปีนี้ คือ ชมรมคนหัวใจเพชร และกลุ่มพลังหญิง ซึ่งเป็นแกนนำในการรณรงค์งดเหล้า รวมถึงคนที่อสม.ดูแลสามารถลด ละ เลิกเหล้าได้ และกิจกรรมโพธิสัตว์น้อยพ่อแม่สามารถกลับมาเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ซึ่งที่ผ่านมาคุณครูได้สะท้อนให้ฟังว่าพ่อแม่ในหลายครอบครัวต่างให้ความร่วมมืองดเหล้าเพื่อลูก ปีนี้เราทำงานเน้นคุณภาพไม่เน้นปริมาณ จึงจับคู่พี่เลี้ยง ช่วย ชม เชียร์ แบบ 1 : 1 และอยากให้เทศกาลเข้าพรรษาเป็นการจุดกระแสในการเริ่มต้นดูแลสุขภาพของนักดื่ม เพื่อให้ทุกๆปี มีคนเลิกเหล้าเพิ่มมากขึ้น"นางสาวอรชรกล่าวในตอนท้าย
ที่มา: double D media