พล.ร.ท.นพ.นิกร เพชรวีรกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "การสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพด้วยงานวิจัย" ระบุว่า งานวิจัยถือเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาในทุกด้าน โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาที่จะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี หรือมีสุขภาพที่ดี ต้องอาศัยงานวิจัยเป็นเข็มทิศนำทาง ทั้งนี้เป้าหมายงานวิจัยที่จะยกระดับความมั่นคงและความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จำเป็นต้องดำเนินการอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นมิติของระบบบริการปฐมภูมิ ที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ มิติบุคลากรเพื่อแก้ปัญหาการกระจุก-กระจายตัว มิตินวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายต่าง ๆ รวมถึงงานวิจัยด้านระบบการเงินการคลัง ด้านยา และการอภิบาลระบบ ตามกรอบแนวคิดระบบสุขภาพ นอกจากนั้น งานวิจัยที่จะช่วยให้เกิดการรองรับวิกฤตที่โลกกำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติ และโรคระบาดใหม่ ๆ ซึ่งงานวิจัยต้องมีการเตรียมความพร้อมและปรับตัวต่อภาวะวิกฤติในอนาคต เช่น งานวิจัยวัคซีน ยาที่จำเป็น เพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์ ดังนั้น งานวิจัยที่จะก้าวไปข้างหน้าได้ ควรมี Think Tank หรือ Research Tank ที่มีประสิทธิภาพ
ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ ดร. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ร่วมเสวนาประเด็น หลอมรวมปัญญาสู่ทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ของระบบสุขภาพด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ ระบุถึงการกำหนดนโยบาย การบริหารจัดการทุนวิจัยและการจัดสรรงบประมาณวิจัยเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพให้กับหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) พร้อมด้วยความคาดหวังต่อการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบสุขภาพไทย ที่บทบาทในการดูแลสุขภาพของประเทศไทย จำเป็นต้องมีการประสานกันระหว่างเทคโนโลยีและการให้บริการ โดยจำเป็นต้องดูบริบทในการเปลี่ยนแปลงภาวะของเมืองมากขึ้นโดยเฉพาะ สังคมสูงวัย คนเกิดน้อยลง การมีคนเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น พฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไป และบทบาทของการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ภายใต้ความท้าทายใน 3 มิติ คือ 1.มิติของการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมากขึ้น ภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไปเพื่อให้สามารถไปต่อข้างหน้าได้ 2.การทำให้ประชากรทั้งหมดของประเทศสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี 3. การนำสิ่งต่าง ๆ ให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ด้วยการให้คนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาและสามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศมากขึ้น
โดยนับตั้งแต่ปี 2562 ที่ประเทศได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบวิจัย ทำให้งบประมาณการวิจัยของประเทศทั้งหมดจะถูกบริหารจัดการผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) โดยมี คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบาย จัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยบริหารและจัดการทุน 9 แห่ง (PMU) และหน่วยปฏิบัติการที่ประกอบด้วย สถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานในระบบ ววน. ทั้งในสังกัดและนอกสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และพัฒนาระบบ ววน. ของประเทศ โดยมีผู้ได้รับประโยชน์เป็นประชาชน ภาคเอกชน และภาคนโยบาย/ภาครัฐ
ทางด้าน รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ได้สนับสนุนงบประมาณการวิจัยด้านการแพทย์และสุขภาพ นับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน จำนวนรวมกว่า 10,000 ล้านบาท โดยจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยบริหารและจัดการทุน สถาบันการศึกษาภาครัฐ-เอกชน และหน่วยรับงบประมาณในกระทรวงต่าง ๆ เพื่อวิจัยยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพของประชาชนและผลักดันให้นำผลงานวิจัยนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ ในปัจจุบันมีนวัตกรรมเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. อาทิ ชุดตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ในตับแบบรวดเร็ว (OV Antigen Rapid Test Kit) ที่ทำการตรวจได้ง่าย ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที, ชุดรองรับสิ่งขับสิ่งขับถ่ายจากทวารเทียม "Colosme(R) ลดการขาดดุลของงบประมาณที่ต้องซื้อผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศมากกว่า 100 ล้านบาท เท้าเทียมไดนามิกเอสเพส (sPace Dynamic Prosthetic Foot) เพื่อช่วยให้ผู้พิการได้เข้าถึงเท้าเทียมคุณภาพสูงได้ในวงกว้าง เป็นต้น ทั้งนี้ สกสว. วางแผนร่วมกับ สปสช เพื่อนำนวัตกรรมไทยสู่ระบบสิทธิประโยชน์เพิ่มอีกอย่างน้อย 10 รายการภายใน 3 ปีจากนี้
สำหรับการประชุมวิชาการในครั้งนี้ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลการพัฒนากลไกสนับสนุนและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ด้านระบบสุขภาพ พร้อมเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณะทราบได้รับรู้ถึงผลงานวิจัยของ สวรส. และการมุ่งส่งเสริมให้ประเทศไทยมีนโยบายสำคัญด้านระบบสาธารณสุขที่เกิดจากงานวิจัยที่มีคุณภาพ โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย นักวิจัยบุคลากรสาธารณสุข ผู้ที่สนใจจากราชวิทยาลัย โรงเรียนแพทย์ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้บริหารจากส่วนกลางและภูมิภาค นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเอกชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมถึงประชาชน ลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่า 700 คน
ทั้งนี้ การพลิกโฉมระบบสุขภาพ จำเป็นต้องอาศัยงานวิจัยที่มีคุณค่าพอในการนำไปใช้กำหนดเชิงนโยบาย ซึ่งกระบวนการวิจัยสุขภาพเป็นยุทธศาสตร์และเครื่องมือสำคัญ ในการจัดการเปลี่ยนผ่านระบบสุขภาพให้สามารถปรับตัวรองรับความต้องการของสังคมและวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การจัดการงานวิจัยระบบสุขภาพจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่เอื้อให้การลงทุนในด้านการวิจัยสุขภาพ สร้างผลผลิตที่นำไปใช้ประโยชน์ในระบบสุขภาพได้อย่างที่หวังไว้และคุ้มค่าสูงสุด
ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์