นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัล บน Digital Health Platform ของกระทรวงฯ เพื่อให้ประชาชนในทุกพื้นที่เข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญของทั้งสองหน่วยงาน ในการส่งเสริม สนับสนุน และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใน การพัฒนาระบบบริการสุขภาพดิจิทัล ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการข้อมูล และการยกระดับบริการสุขภาพ ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลกลางที่มีความทันสมัยและถูกต้อง โดยได้รับการรับรองจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ภายใต้ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการใช้งานระบบบริการสุขภาพบน Digital Health Platform ของกระทรวงสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า Digital Health Platform เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมการแพทย์ของไทย (Thailand Medical Innovation Hub) อาทิ ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก ซึ่งเป็นพื้นที่สร้างและดึงดูดธุรกิจนวัตกรรมผ่านเครื่องมือและกลไกความร่วมมือในการแบ่งปันทรัพยากรของเครือข่ายภายในย่าน ทำให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ รวมทั้งโครงการความร่วมมือด้านงานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมของเครือข่าย นำไปสู่การสร้างมูลค่าการลงทุนทางการแพทย์ในอนาคต ซึ่ง NIA พร้อมสนับสนุนกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อยกระดับบริการด้านสาธารณสุขและผลักดันนวัตกรรมด้านสุขภาพสู่เชิงพาณิชย์ สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ ผลักดันประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพที่สำคัญในระดับสากล โดยจะส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการด้านสาธารณสุขบน Digital Health Platform ของกระทรวงสาธารณสุข ให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพ ตลอดจนสนับสนุนให้มีการใช้ข้อมูลอย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อไป
"การเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐนอกจากจะช่วยส่งเสริมให้การบริการสาธารณสุขดีขึ้น ยังเป็นประโยชน์กับบริษัทสตาร์ทอัพที่จะใช้ข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน แต่อย่างไรก็ตามการเชื่อมโยงข้อมูลจะต้องอยู่บนพื้นฐานมาตรฐานความปลอดภัย และการรักษาความลับข้อมูล ดังนั้น หากหน่วยงานสามารถเชื่อมโยงข้อมูลแบบนี้ได้ เราจะมีดาต้า หรือฐานข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพที่สะดวกที่สุด และสามารถนำไปใช้ให้บริการด้านสุขภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำได้ในอนาคต ซึ่งโครงการนี้จะสำเร็จไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุขในการเชื่อมต่อข้อมูลดี ๆ ขณะเดียวกันก็ยังมีสมาคมสตาร์ทอัพเฮลท์เทค ที่จะมาดำเนินการร่วมกัน NIA จึงเป็นเหมือนหน่วยงานกลางที่จะทำหน้าที่เชื่อมโยงให้เกิดการทำงานเชิงบูรณาการร่วมกัน ภายใต้บทบาทของการเป็น "ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม หรือ Focal Conductor" ตามที่ได้วางยุทธศาสตร์ไว้"
ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์