ปัจจัยหลักที่สนับสนุนการเติบโตของกำไรครั้งนี้มาจากการขยายตัวของเงินให้สินเชื่ออย่างแข็งแกร่ง ยอดเงินให้สินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 อยู่ที่ 157,604.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ ในส่วนของการควบคุมค่าใช้จ่าย ธนาคารฯ ยังคงรักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้ให้อยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 38.8 ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2567
การดำเนินงานของธนาคารฯ ในไตรมาสนี้ยังเน้นความรอบคอบเพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ โดยอัตราส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin) ในไตรมาส 3 อยู่ที่ร้อยละ 8.7 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2 ขณะที่ในงวด 9 เดือนแรกของปี อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 8.6
ในด้านการบริหารจัดการความเสี่ยง ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสัดส่วนเงินให้สินเชื่อ stage 2 และ 3 ต่อเงินให้สินเชื่อรวมมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะจากสินเชื่อชั้นที่ 2 ที่ได้รับผลกระทบเพียงครั้งเดียวจากการสิ้นสุดมาตรการผ่อนผันการจัดชั้นสินเชื่อในไตรมาส 1 ปี 2567 ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม สินเชื่อในกลุ่มดังกล่าวสามารถกลับสู่สถานะปกติได้หลังจากลูกหนี้ชำระหนี้ต่อเนื่องครบ 3 งวด ประกอบกับผลกระทบจากส่วนสูญเสียจากการขาย NPL ลดลง เนื่องจากการปรับแผนลดการขาย NPL ตามคุณภาพหนี้ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังคงรักษาประสิทธิภาพในการควบคุมสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ที่ระดับร้อยละ 4.5 ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถบริหารจัดการได้
กำไรต่อหุ้นของธนาคารฯ ในไตรมาส 3 ปี 2567 อยู่ที่ 0.94 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นจาก 0.67 บาทต่อหุ้น ในไตรมาส 2 และจาก 0.85 บาทต่อหุ้น ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 2,431.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลขาดทุน ECL ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในไตรมาส 1 ส่งผลให้กำไรต่อหุ้นสำหรับงวด 9 เดือน ยังคงอยู่ที่ 1.99 บาทต่อหุ้น
ที่มา: ธนาคารไทยเครดิต