นายธนทัต นิลเอก ผู้จัดการโรงงาน บริษัท ทรอปิคานา ออยล์ จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์สกัดเย็นออร์แกนิก และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่มาจากวัตถุดิบน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยต้องเผชิญสิ่งท้าทายหลากหลายเรื่อง ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และความสามารถในการแข่งขัน โดยหนึ่งในสิ่งท้าทายที่ทุกหน่วยงานต้องเผชิญคือ การปรับตัวไปสู่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในองค์กรให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทางกฎหมาย CBAM 'Carbon Border Adjustment Mechanism' หรือ 'มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน' ซึ่งเป็นมาตรการที่สหภาพยุโรป (EU) กำหนดขึ้นเพื่อมุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่ประเทศคู่ค้านอกสหภาพยุโรป 'ผ่านการใช้มาตรการด้านคาร์บอน' โดยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้นำเข้าสินค้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูง (carbon intensive products) ซึ่งคาดว่าในระยะต่อไปประเทศที่เป็นสมาชิกอียู จะบังคับใช้กฎหมายนี้ ทำให้บริษัทใดที่ไม่ได้มาตรฐานนี้ จะมีต้นทุนด้านภาษีสูงมากจนไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ ซึ่งปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ มีการส่งออกไปกว่า 20 ประเทศทั่วโลก และมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องเพิ่มขึ้นทุกปี
ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้น ทำให้บริษัทฯ ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยแนวคิด BCG Model ภายใต้โครงการ "ยกระดับธุรกิจ SMEs ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG" ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจตามแนวคิด BCG ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมเชื่อมโยงสู่การขอมาตรฐานหรือฉลากสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือให้เป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อที่บริษัทฯ จะนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ในการดำเนินงาน และมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นองค์กร NET ZERO
นายธนทัต กล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้าร่วมโครงการฯ ในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้รับองค์ความรู้ตามแนวเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่เน้นการให้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดปริมาณขยะ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินงานมากมาย อีกทั้งยังได้เรียนรู้ระบบการจัดเก็บเอกสาร การสร้างฐานข้อมูล เพื่อการจัดทำคาร์บอนเครดิตในองค์กร ทำให้เห็นว่าในรอบ 1 ปี บริษัทฯ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภทใด และปริมาณเท่าไร เพื่อนำมาวางแผนมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือน้อยที่สุด รวมทั้งการลดปริมาณขยะด้วยการคัดแยกขยะ และนำกลับไปใช้ใหม่ ซึ่งส่งผลให้ลดปริมาณขยะเหลือทิ้งไปได้มาก และยังได้รับคำแนะนำการวางแผนการใช้พลังงานสะอาดโดยการใช้โซล่าเซลล์ ผลิตไฟฟ้าแทนเชื้อเพลิงในอนาคต สอดรับกับแนวทางของบริษัทฯ โดยพบว่า กระบวนการดังกล่าวสามารถลดต้นทุนลงไปได้มากอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการเข้าไปลดสิ่งเล็กน้อยเหล่านี้ ทำให้ลดต้นทุนลงไปได้มาก
"โครงการยกระดับธุรกิจ SMEs ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ช่วยให้ผู้ประกอบการ SME มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากต้นทุนที่ลดลง ทั้งจากต้นทุนการใช้พลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนการขนส่ง และมีส่วนช่วยเพิ่มรายได้จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการต่อยอดสู่ตลาดสากล ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยต้องไม่ละเลย และให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานใดที่กำลังก้าวสู่ตลาดโลก" นายธนทัต กล่าวทิ้งท้าย
หน่วยงานหรือองค์กรที่สนใจเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. 1358 หรือ ติดตามข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวของโครงการฯ ได้ที่ Facebook กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม - DIPROM หรือ เว็บไซต์ https://www.diprom.go.th
ที่มา: โมเดิร์นเทียร์