ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การจัดการขยะมูลฝอยเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน ซึ่งกว่าร้อยละ 35-40 ของขยะมูลฝอยชุมชนเป็นขยะเศษอาหาร นโยบายด้านการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน จึงมุ่งเน้นการลดปริมาณขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง ตามหลัก 3R (Reduce Reuse และ Recycle) และการคัดแยกขยะ เพื่อนำขยะมูลฝอยแต่ละประเภทไปกำจัดอย่างถูกวิธีและเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด โดยกระบวนการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนที่ใช้ในปัจจุบัน อาทิ ระบบฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาล ระบบหมักทำปุ๋ย ระบบหมักแบบไร้อากาศ การเผาในเตาเผาและเผากลางแจ้ง มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 8.66 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งมากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณการปล่อยในภาคของเสียทั้งหมด (16.88 MtgCO2eq) (ข้อมูล ณ ปี พ.ศ. 2562/ค.ศ. 2019) กรมลดโลกร้อนจึงได้ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ในการจัดการขยะเศษอาหารที่ต้นทางอย่างเหมาะสมด้วยหนอน BSF โดยได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เรือนจำและทัณฑสถานในรูปแบบออนไลน์กว่า 136 แห่ง และลงมือปฏิบัติในพื้นที่นำร่อง 7 แห่ง พบว่า สามารถจัดการกับขยะเศษอาหารได้ดี และยังนำผลผลิตจากหนอน BSF ไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ทั้งเป็นอาหารสัตว์และปุ๋ยอินทรีย์ การลงนาม MOU ในวันนี้ จึงเป็นอีกก้าวสำคัญของการขยายผลแนวทางการดำเนินงานไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่อย่างแท้จริง
ด้าน นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการควบคุมและแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องราชทัณฑ์ ปัจจุบันมีผู้ต้องราชทัณฑ์ จำนวน 277,950 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 21 ตุลาคม 2567) ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงในทุกองคาพยพของสังคม และเป็นพลังที่จะมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม โดยร่วมทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์เพื่อสร้างสังคมน่าอยู่ อาทิ ลดปริมาณขยะ ปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ตลอดจนกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สนับสนุนการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความรู้ในนวัตกรรมการจัดการขยะอินทรีย์ ด้วยการใช้หนอน BSF ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและกิจกรรม Green Prison เรือนจำเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถลดปริมาณขยะเศษอาหาร และยังก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านการเกษตร ลดต้นทุนอาหารสัตว์และปุ๋ยอินทรีย์ อีกทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการขยะภายในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศอีกด้วย โดยในปัจจุบัน มีเรือนจำและทัณฑสถานที่ดำเนินการเลี้ยงหนอน BSF เพื่อใช้ในการจัดการขยะอินทรีย์แล้ว จำนวน 17 แห่ง ซึ่งการลงนาม MOU ในวันนี้ จะเป็นการสร้างความร่วมมือและนำไปสู่การขยายการดำเนินงานไปยังเรือนจำและทัณฑสถาน 143 แห่งทั่วประเทศ เพื่อช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมอันจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อไป
ทั้งนี้ ภายใต้ MOU ดังกล่าว ทั้งสองหน่วยงานจะได้ร่วมกันสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมการจัดการขยะอินทรีย์และขยะเศษอาหารในเรือนจำและทัณฑสถาน การนำผลผลิตที่ได้ไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร ทั้งการใช้เป็นอาหารสัตว์ ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ รวมถึงการประเมินปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการขยะมูลฝอยภายในเรือนจำและทัณฑสถาน เพื่อก่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และลดผลกระทบจากเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป
ที่มา: กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม