สำหรับมาตรการเชิงรุกในการควบคุม กำกับดูแลและแก้ไขปัญหาแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ สนพ. ได้รณรงค์ให้ส่วนราชการในสังกัดขอความร่วมมือร่วมลดฝุ่น PM2.5 จากการเดินทาง โดยลดปริมาณการใช้ยานพาหนะในช่วงที่กรุงเทพฯ มีแนวโน้มปริมาณฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้น รวมทั้งร่วมลดฝุ่น PM2.5 ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การเหลื่อมเวลาทำงาน การส่งเสริมให้บุคลากรใช้รถขนส่งสาธารณะมากขึ้น เพื่อลดความหนาแน่นของรถและลดการสร้างมลพิษทางอากาศ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ "ดับเครื่องยนต์เมื่อจอดรถ ลดฝุ่น PM 2.5" โดยกำชับพนักงานขับรถยนต์ดับเครื่องยนต์ทุกครั้ง เมื่อไม่ปฏิบัติงานหรือจอดรถรับ-ส่ง เพื่อลดปัญหาการเกิดมลพิษทางอากาศที่เกิดจากไอเสียของเครื่องยนต์จากยานพาหนะ ส่วนแนวทางการรณรงค์ส่งเสริมความรู้ ได้มอบหมายกลุ่มงานอนามัยชุมชนของโรงพยาบาลในสังกัดออกหน่วยบริการเชิงรุก โดยให้การดูแลรักษาคำแนะนำเบื้องต้น พร้อมความรู้ในการป้องกันโรคแก่ประชาชนและเครือข่าย ทั้งภายในโรงพยาบาลและชุมชนบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงรอบโรงพยาบาลในช่วงสถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 วิกฤตหนาแน่น เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองได้อย่างถูกวิธี ลดผลกระทบต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ
นอกจากนี้ สนพ. ได้จัดทำพื้นที่ปลอดฝุ่น (Safe Zone) ภายในศูนย์เด็กเล็กน่าอยู่คู่นมแม่ของโรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 11 แห่ง พร้อมแจกหน้ากากอนามัยและให้คำแนะนำในการป้องกัน ดูแลสุขภาพในช่วงฝุ่นหนาแน่น ส่วนกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูงและผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง ควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง หรือหากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบพบแพทย์ทันที หรือพบแพทย์ผ่านทาง Telemedicine แอปพลิเคชัน "หมอ กทม." เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็ว สามารถปรึกษาเรื่องสุขภาพได้ที่สายด่วนสุขภาพ สนพ. โทร 1646 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โดยภายในเดือน พ.ย. 67 สนอ. จะจัดหาหน้ากากอนามัยสำหรับผู้ใหญ่ จำนวน 1 ล้านชิ้น ส่งผ่านไปให้สำนักงานเขต 50 เขต เพื่อรณรงค์และสนับสนุนความพร้อมในการป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 มีค่าสูง โดยมอบให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบาง ประชาชนกลุ่มเสี่ยง และผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง พร้อมทั้งให้แนะนำแก่ประชาชนสวมใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกวิธี เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพ
ขณะเดียวกัน สนอ. ได้ให้ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 69 แห่ง จัดเตรียมความพร้อมให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยกลุ่มโรคที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 ที่มารับบริการ ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. โดยเฉพาะผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคที่ต้องเฝ้าระวัง คือ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และกลุ่มโรคตาอักเสบ โดยข้อมูลดังกล่าวจะนำไปพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2568 และให้ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง เตรียมพร้อมจัดทีมออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ และทีมปฏิบัติการลงพื้นที่ชุมชนและเยี่ยมติดตามผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำในการดูแลและป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 อย่างถูกวิธีต่อไป
ที่มา: กรุงเทพมหานคร