นายนภินทร กล่าวเพิ่มเติมว่า "ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เพลงไทยเติบโตในยุคดิจิทัล คือ ทรัพย์สินทางดนตรี (Music IP) ซึ่งหมายถึงสิทธิหรือลิขสิทธิ์เพลงที่เป็นจุดแข็งเชิงกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ค่ายเพลงมีรายได้ต่อเนื่องและยาวนานหลายสิบปี ในขณะเดียวกันเทคโนโลยี AI กำลังเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญ และกลายเป็นหนึ่งในความท้าทายสำหรับอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ในวันนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่กระทรวงพาณิชย์จะได้ร่วมหารือกับ CEO ของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ เช่น Sony Music Entertainment Universal Music Group และ Warner Music Group ซึ่งเป็นคณะกรรมการบริหาร (Executive Committee) ของสมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศ (IFPI)ซึ่งเป็นองค์กรมีสมาชิกกว่า 8,000 บริษัทจากกว่า 70 ประเทศ เพื่อหาแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมเพลงไทย สร้างเครือข่ายที่ทรงพลัง เพื่อช่วยส่งเสริมให้ศิลปินไทยสามารถสร้างรายได้จากผลงานเพลงของตนอย่างเต็มศักยภาพและขยายไปสู่ตลาดสากลได้อย่างมั่นคง"
นายนภินทร กล่าวทิ้งท้ายว่า "แม้ไทยจะเป็นตลาดขนาดเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศยักษ์ใหญ่อื่นๆ ในเอเชีย แต่กลับแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่น่าทึ่ง โดยในปี 2023 ตลาดเพลงในไทย มีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 5 ของเอเชีย ผ่านเม็ดเงิน 107.7 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3,600 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้สูงสุดในอาเซียน และมากกว่าจีนฮ่องกง รวมถึงจีนไทเป โดยมูลค่าดังกล่าวเติบโต 6.3% จากปี 2022 ซึ่งความสำเร็จนี้เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมเพลงในฐานะเครื่องมือสำคัญภายใต้กลยุทธ์ซอฟต์พาวเวอร์เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่เวทีโลก โดยกระทรวงพาณิชย์มีแผนเดินหน้าจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเพลงไทยให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศอย่างต่อเนื่อง และอยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อกำกับดูแลการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ในประเทศไทยให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม เป็นประโยชน์แก่ทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์และผู้ใช้งาน เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ดีให้อุตสาหกรรมเพลงไทยสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน"
ที่มา: กรมทรัพย์สินทางปัญญา