พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษาธิการ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบัน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยต้องมีการตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยความร่วมมือของทุกภาคส่วน แม้ว่าแนวคิดของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน แต่จุดหมายร่วมกันคือการสร้างเยาวชนให้มีคุณภาพ หากมองผลการศึกษาที่รวบรวมมา เข้าใจว่าระบบการศึกษาอาจจะดีอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น โทรศัพท์มือถือที่เปลี่ยนรุ่นอย่างรวดเร็ว นี่คือสิ่งที่เราต้องร่วมกันคิดและทำงานอย่างใกล้ชิด ซึ่งการเรียนรู้อาจมีหลายชองทาง ทำอย่างไรถึงจะให้ช่องทางต่าง ๆ นั้น สามารถเชื่อมกับการศึกษาภาคบังคับ เพื่อเติมเต็มคุณภาพการเรียนรู้ของทุกช่วงวัย หรือ ระดับชั้น เช่น ผลการสอบ PISA ของโรงเรียนบ้านหลังเขาในจังหวัดกาญจนบุรีที่ได้คะแนนสูง สิ่งที่สำคัญคือผู้บริหารโรงเรียน เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเรียนรู้ได้ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้บริหารและครู ซึ่งต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินการทางการศึกษา โดยส่วนตัวเชื่อว่าการเชื่อมโยงระบบการศึกษาและการเรียนรู้ จะช่วยให้แนวนโยบาย "เรียนดี มีความสุข" และ "ฉลาดรู้ ฉลาดคิด และฉลาดทำ" ของกระทรวงศึกษาธิการขับเคลื่อนควบคู่ไปด้วยกันได้ การทำงานทั้ง 2 ส่วนนี้ เป็นการทำงานที่ "ฉลาดคิด ฉลาดทำ" ถือเป็นความท้าทายอยางยิ่ง จึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วนมาร่วมมือกัน เพื่อให้การศึกษาของประเทศเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศชาติ
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ที่ผ่านมางบประมาณสนับสนุนเรื่องของการศึกษาส่วนมากลงไปอยู่ในระดับห้องเรียน สิ่งที่ขาดคืองานวิจัยเชิงระบบ ที่เป็นรากฐานสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการศึกษาของไทย โดย สกสว. มีเป้าหมายสร้างความรู้เชิงระบบ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน และภาพของระบบการศึกษาไร้รอยต่อชัดขึ้น สกสว. จึงสนับสนุนให้มีการวิเคราะห์การศึกษาและการเรียนรู้เชิงระบบ เพื่อศึกษาข้อเสนอแนะที่แตกต่างของแต่ละภาคส่วน มาเชื่อมปฏิสัมพันธ์การทำงานเพิ่มเติม ทั้งในส่วนของจินตนาการของระบบการศึกษาแบบใหม่ ว่าควรจะต้องส่งมอบอะไร แก่รองศาสตราจารย์ ดร.อนุชาติ พวงสำลี และคณะทำงานวิชาการ SAT การศึกษาและการเรียนรู้ วิเคราะห์สถานการณ์ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ในประเทศไทยและในบริบทของการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ของโลก ซึ่งสามารถนำมาออกแบบข้อเสนอ "จินตนาการใหม่ของการศึกษาไร้รอยต่อ" ได้ทั้ง 10 โจทย์ ดังนี้
- โจทย์ที่ 1 : เรารู้จักเด็กในประเทศไทยมากแค่ไหน
- โจทย์ที่ 2 : ครอบครัวไทยต้องการอะไรเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้
- โจทย์ที่ 3 : วิธีการเรียนรู้อันหลากหลายที่ผู้เรียนต้องการเป็นอย่างไรได้บ้าง
- โจทย์ 4 : ครูในอนาคตจะเป็นอย่างไร
- โจทย์ที่ 5 : เราจะสร้างระบบนิเวศของโรงเรียนที่ส่งเสริมการเรียนรู้และสุขภาวะของผู้เรียนได้อย่างไร
- โจทย์ที่ 6 : เราจะเชื่อมร้อยระบบนิเวศการเรียนรู้ในและนอกโรงเรียนได้อย่างไร
- โจทย์ที่ 7 : หน่วยงาน องค์กร ภาคสังคม จะสนับสนุนการศึกษาและการเรียนรู้ได้อย่างไร
- โจทย์ที่ 8 : โลกดิจิทัลเข้ามากระทบตัวตนและการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างไร
- โจทย์ที่ 9 : เราจะสร้างกระบวนการนโยบายสาธารณะด้านการศึกษาที่มีส่วนร่วมและเรียนรู้เป็นได้อย่างไร
- โจทย์ที่ 10 : กระบวนทัศน์ที่หลากหลายมีผลต่อการขับเคลื่อนการศึกษาอย่างไร
โดยทั้งหมดนี้ สกสว. และ คณะทำงานวิชาการ SAT การศึกษาและการเรียนรู้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนร่วมกับขับเคลื่อน ยกระดับผลสัมฤทธิ์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ทดลอง และเกิดการขยายผลต่อไป
ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์