ทั้งนี้ กทม. มีแนวทางการรับนักเรียน เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา ให้เด็กทุกคนได้รับสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตให้กับเด็กทุกคนในสังคม ซึ่ง สนศ. ได้จัดประชุมคณะกรรมการรับนักเรียนของโรงเรียนในสังกัด กทม. เพื่อจัดทำประกาศ กทม. เรื่อง แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนของโรงเรียนในสังกัด กทม. ทุกปีการศึกษา คณะกรรมการฯ ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในหน่วยงานและภายนอกหน่วยงาน โดยแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนกำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจนและโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจว่า ทุกคนจะได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งแนวปฏิบัติ การรับนักเรียนของโรงเรียนสังกัด กทม. ได้กำหนดอย่างชัดเจนในแต่ละระดับการศึกษา ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลศึกษาปีที่ 1 ระดับชั้นอนุบาลศึกษาปีที่ 2 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยระบุจำนวนห้องเรียนและจำนวนการรับนักเรียนต่อห้องอย่างชัดเจน เพื่อให้การรับนักเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถรองรับจำนวนนักเรียนได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ ยังได้กำหนดวัน เวลา และขั้นตอนการรับสมัคร เพื่อให้โรงเรียน ผู้ปกครอง และนักเรียนสามารถปฏิบัติตามได้อย่างสะดวก อีกทั้งกำหนดแนวทางการรับนักเรียนในโรงเรียนที่มีลักษณะพิเศษ ได้แก่ โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนสองภาษา โรงเรียนที่จัดการศึกษาพิเศษ (เรียนร่วม) ซึ่งให้ความสำคัญกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษให้ได้เข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการรับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย กรณีนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทยเข้าเรียนในสถานศึกษาหากไม่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก โรงเรียนจะดำเนินการออกรหัสประจำตัวผู้เรียน (รหัส G) เพื่อระบุตัวนักเรียนในการขอรับบริการทางการศึกษา ไม่ได้เป็นการรับรองว่านักเรียนคนดังกล่าวจะได้รับสัญชาติไทยแต่อย่างใด ทั้งนี้ การให้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก สำหรับนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทยจะได้รับการกำหนดเลข 13 หลักสำหรับบุคคลต่างด้าวที่ออกตามกระบวนการทางทะเบียนราษฎร โดยกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น
ที่มา: กรุงเทพมหานคร