นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3 นี้ บริษัทมีความคืบหน้าในการดำเนินงานโครงการในต่างประเทศ โดยโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้รับการอนุมัติแผนพัฒนาโครงการจากหน่วยงานรัฐบาลของอาบูดาบีแล้ว โดยคาดว่าจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ได้ในปี 2568 เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมและอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติให้บริษัทในอนาคต
ส่วนด้านการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital-Driven Organization) ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ รวมทั้ง ช่วยลดระยะเวลาและลดค่าใช้จ่าย โดยในช่วงที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้พัฒนาโครงการ DigitalX ขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาและประยุกต์ใช้โครงการนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Solutions) เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานอย่างครบวงจร เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Machine Learning ที่ช่วยวิเคราะห์และประมวลข้อมูลทั่วทั้งห่วงโซ่ธุรกิจของ ปตท.สผ. ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เช่น ช่วยการเจาะหลุมปิโตรเลียม กระบวนการผลิต การบริหารจัดหาจัดส่งวัสดุอุปกรณ์ โดยมีการเชื่อมฐานข้อมูล (Data Foundation) ที่เชื่อถือได้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีระบบบริหารจัดการทรัพยากร (ERP System) ที่ทันสมัย ภายใต้มาตรการความปลอดภัยเชิงรุก
นอกจากนี้ ปตท.สผ. กำลังพัฒนาและทดสอบเทคโนโลยี หุ่นยนต์และอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานที่แท่นผลิตปิโตรเลียมนอกชายฝั่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถและความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน ลดความเสี่ยง ลดระยะเวลาในการทำงาน เช่น โดรนสำหรับขนส่งอุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ที่จำเป็น (Delivery Drone) ระหว่างแท่นผลิตในอ่าวไทย ซึ่งช่วยให้การเคลื่อนย้ายเครื่องมือ อุปกรณ์การผลิต และอื่น ๆ สามารถดำเนินการได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และโดรนสำหรับตรวจสอบสภาพภายนอกของแท่นผลิตและตรวจการ (Inspection Drone) เพื่อยืดอายุการใช้งานของโครงสร้างแท่นผลิตรวมถึงป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
นายมนตรี กล่าวว่า "ในช่วงที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้พัฒนาและนำนวัตกรรม เทคโนโลยี หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ เช่น โครงการ DigitalX หุ่นยนต์ที่ปฏิบัติงานใต้ทะเล และเทคโนโลยีอื่น ๆ ผ่านบริษัทในเครือ และ ปตท.สผ. เอง การพัฒนาดังกล่าว ดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยการเรียนรู้ ถ่ายทอดความรู้ ประยุกต์ใช้ ทดลอง และต่อยอด ตามแนวทางการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อขยายขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการดำเนินงานทั้งด้านการสำรวจและการพัฒนาแหล่งพลังงานในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นอีกส่วนสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรและประเทศ"
จากการให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการดำเนินงาน ส่งผลให้ ปตท.สผ. ได้รับรางวัลจากสถาบันหรือองค์กรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น รางวัล Thailand Technology Excellence Awards for AI - Oil & Gas จากนิตยสาร Asian Business Review จากผลงาน "AI Innovation ภายใต้โครงการ Digital Transformation" ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ และ Machine Learning รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2567 ด้านองค์กรนวัตกรรม ประเภทองค์กรวิสาหกิจขนาดใหญ่ จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับรางวัลด้านอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ได้แก่ รางวัลบริษัทยอดเยี่ยมแห่งปี 2567 จากการประกาศรางวัล Money & Banking 2024 และรางวัล Best CEO และ Best IR ในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภค จากเวที IAA Awards for Listed Companies 2024 และรางวัล Sustainability Award 2024 ประเภท "Sustainability Initiative of the Year" จากโครงการ Ocean for Life จาก Business Intelligence Group ซึ่งเป็นองค์กรอิสระจากสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
สำหรับผลประกอบการในรอบ 9 เดือนของปี 2567 ปตท.สผ. มีรายได้รวม 247,119 ล้านบาท (เทียบเท่า 6,912 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.)) โดยมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอัตราการผลิตปิโตรเลียมของโครงการ G1/61 ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 47.11 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ จากการปรับตัวลดลงของราคาก๊าซธรรมชาติ จึงส่งผลให้รอบ 9 เดือนของปีนี้ บริษัทมีกำไรสุทธิ 60,517 ล้านบาท (เทียบเท่า 1,688 ล้านดอลลาร์ สรอ.)
นำส่งรายได้ให้กับรัฐ กว่า 43,300 ล้านบาท เพื่อการพัฒนาประเทศ
ในรอบ 9 เดือนของปี 2567 ปตท.สผ. ได้นำส่งรายได้ให้กับรัฐในรูปของภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวง และส่วนแบ่งผลประโยชน์อื่น ๆ จำนวนกว่า 43,300 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาชุมชน การศึกษา และการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น นอกจากนี้ ส่วนแบ่งผลผลิตปิโตรเลียมจากโครงการ G1/61 และ G2/61 ภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ยังเป็นรายได้อีกส่วนหนึ่งที่รัฐได้รับโดยตรงจากการผลิตปิโตรเลียมของบริษัท เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศอีกด้วย
ที่มา: ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม