นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมพร้อมมาตรการเชิงรุกดูแลสุขภาพประชาชน เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคติดต่อและภัยสุขภาพต่าง ๆ ในช่วงฤดูหนาวว่า สนพ. ได้เตรียมพร้อมมาตรการเฝ้าระวังและจัดทำแนวทางการดำเนินงานควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในฤดูหนาวและภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน โดยสั่งการให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัดเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาด รวมทั้งวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาของโรค พร้อมทั้งจัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย จัดเตรียมวัคซีนป้องกันควบคุมโรคในฤดูหนาว ได้แก่ โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัสให้กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง และให้บริการเชิงรุกในการให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับโรคในฤดูหนาวแก่ประชาชนที่มารับบริการในโรงพยาบาลในสังกัดและประชาชนในพื้นที่โดยรอบ เพื่อสร้างความตระหนักรู้การดูแลสุขภาพ ป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ในช่วงฤดูหนาว
นอกจากนี้ สนพ. ได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวัง ติดตาม ประเมินสถานการณ์ และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคของโรคติดต่อ โดยให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เมื่ออากาศเย็นลง ประกอบด้วย (1) รับประทานอาหารปรุง สุก ใหม่ (2) ดื่มน้ำอุ่น หรือดื่มน้ำสมุนไพรเผ็ดร้อน เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด (3) รับประทานผัก ผลไม้ และสมุนไพรรสเปรี้ยว เพื่อเพิ่มความชุ่มคอและบรรเทาอาการไอ (4) รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ (5) ไม่ควรดื่มสุราแก้หนาว เพราะเสี่ยงต่อหัวใจวายและเสียชีวิตได้ (6) หมั่นออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ และ (7) สวมใส่เสื้อผ้าหนา หรือห่มผ้าเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย ส่วนผู้ป่วยควรพักผ่อนอยู่บ้าน ไม่ควรเข้าไปในแหล่งชุมชน หากจำเป็นให้สวมหน้ากากอนามัย หรือใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูกเวลาไอ หรือจาม ทั้งนี้ ประชาชนสามารถพบแพทย์ผ่านทาง Telemedicine หรือแอปพลิเคชัน "หมอ กทม." สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนสุขภาพ สนพ.กทม. โทร. 1646 ตลอด 24 ชั่วโมง
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า สนอ. ได้เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ รวมทั้งการเตรียมรับมือ หากผู้ป่วยด้วยโรคที่พบบ่อยช่วงฤดูหนาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตลอดจนติดตามสถานการณ์ภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในช่วงฤดูหนาวอย่างสม่ำเสมอ ขณะเดียวกันยังได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพและสุขอนามัย โดยทำหนังสือแจ้งเตือนมาตรการการป้องกันโรคและภัยในช่วงฤดูหนาว รวมถึงวิธีการปฏิบัติตนไปยังศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่ง สำนักการศึกษา สำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานเขต เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนและกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ความรู้ให้สุขศึกษาและคำแนะนำแนวทางส่งเสริมความรู้แก่ประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อป้องกันตนเองจากการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อและภัยสุขภาพต่าง ๆ ในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะสถานที่ที่แออัด หรือมีการรวมกลุ่มเป็นจำนวน เช่น สถานศึกษา บ้านพักคนชรา อีกทั้งได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อป้องกันตนเองจากการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อในช่วงฤดูหนาว ผ่านช่องทางสื่อสาธารณะต่าง ๆ
ที่มา: กรุงเทพมหานคร