โตชิบา คอร์ปอเรชั่น และ บริษัทเนเจอร์นิกซ์ สตาร์ตอัปเทคโนโลยีแบตเตอรี่จากมหาวิทยาลัยชิมาเนะ ได้เริ่มโครงการทดสอบให้บริการปล่อยเช่าแบตเตอรี่ด้วยระบบสมาชิกสำหรับผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา
ในกรุงเทพมหานคร รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างไฟฟ้าช่วยให้ผู้คนหลีกเลี่ยงปัญหารถติดได้ แต่มักต้องเผชิญกับปัญหาอุณหภูมิสูง ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพและอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ลดลง โครงการทดสอบนี้จะใช้แบตเตอรี่ SCiB(TM) ของโตชิบา ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนแบบชาร์จซ้ำได้ และขึ้นชื่อว่ามีประสิทธิภาพที่เชื่อถือได้และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานแม้ในอุณหภูมิสูง เพื่อให้รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างไฟฟ้าวิ่งได้เสถียรเป็นระยะนาน อีกทั้งยังไม่ต้องลงทุนซื้อแบตเตอรี่ราคาสูงในครั้งแรก และช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน นอกจากนี้ อายุการใช้งานแบตเตอรี่ที่ยาวนานขึ้นยังช่วยลดการใช้วัสดุและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย
ประสิทธิภาพแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนจะลดลงเมื่ออุณหภูมิสูง ปัญหานี้พบมากในรถสองล้อและรถสามล้อ เนื่องจากติดตั้งระบบระบายความร้อนได้ยาก โดยเฉพาะในประเทศเมืองร้อนอย่างประเทศไทย เนื่องจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนมีราคาสูงและมักต้องเปลี่ยนใหม่หลังใช้งานได้เพียง 1-2 ปี จึงไม่คุ้มค่าและมีข้อจำกัดในการใช้งาน อีกทั้งยังเคยเกิดเหตุแบตเตอรี่ไฟไหม้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่แบตเตอรี่ที่ใช้ต้องมีระบบความปลอดภัยระดับสูง
แม้คาดการณ์กันว่าความต้องการแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่จะมีปริมาณเกิน 600 กิกะวัตต์ชั่วโมง ภายในปี พ.ศ. 2578 แต่จากตัวเลขดังกล่าว คาดว่าความต้องการแบตเตอรี่สำหรับรถมอเตอร์ไซค์และรถสามล้อ ซึ่งเป็นยานพาหนะที่นิยมใช้กันในชีวิตประจำวัน จะคิดเป็นเพียงแค่ 2.8% เท่านั้น ทั้งนี้ เหตุผลของความต้องการต่ำในภาคส่วนนี้ซึ่งแบตเตอรี่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อรถมอเตอร์ไซด์และรถสามล้อ โดยที่ความต้องการแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนต่ำนั้น มาจากปัญหาแบตเตอรี่เสื่อมสภาพและไม่ปลอดภัย ดังนั้น หากแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยปลดล็อคตลาดที่สำคัญให้กับแบตเตอรี่รถมอเตอร์ไซค์และรถสามล้อ
เนเจอร์นิกซ์จะเป็นผู้ให้บริการเปลี่ยนแบตเตอรี่รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า โดยร่วมมือกับบริษัท วินดี อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับผู้ให้บริการจัดการที่จอดรถในประเทศไทย โครงการทดสอบในครั้งนี้จะใช้แบตเตอรี่ SCiB(TM) ของโตชิบา ที่ติดตั้งเซ็นเซอร์เพื่อติดตามคุณสมบัติต่างๆ และส่งข้อมูลไปยังเนเจอร์นิกซ์เพื่อวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทั้งนี้ บริษัทจะขอให้ผู้ใช้บริการตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับการบริการด้วย นอกจากนี้ บริษัทจะติดตามระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และตรวจสอบว่าบริการนี้มีประสิทธิผลในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพียงใด ข้อมูลที่รวบรวมได้จะนำไปใช้บ่งชี้ประสิทธิผลของการบริการและรองรับการเตรียมการเพื่อขยายขอบเขตการบริการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
แบตเตอรี่ SCiB(TM) ของโตชิบาที่นำมาใช้ในโครงการทดสอบครั้งนี้มีจุดเด่น คือ อายุการใช้งานที่ยาวนาน มีความปลอดภัยระดับสูง และประสิทธิภาพลดลงน้อยมากแม้จะผ่านการชาร์จและคายประจุมากกว่า 20,000*2 ครั้ง อายุการใช้งานยาวนานเช่นนี้สำคัญอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมที่ร้อนอย่างประเทศไทย นอกจากนี้ แบตเตอรี่ SCiB(TM) ของโตชิบายังมีระบบความปลอดภัยชั้นเลิศ ช่วยลดโอกาสที่จะเกิดความร้อนผิดปกติหรือติดไฟ แม้ในกรณีที่เกิดการลัดวงจรภายใน
เทคโนโลยีการบรรจุและการชาร์จของเนเจอร์นิกซ์ลดการเกิดความร้อนด้วยการลดความต้านทานภายในให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้ บริษัทมุ่งใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ให้ยาวนานขึ้น เพิ่มกำลังไฟที่จ่ายออกให้สูงขึ้น และย่นระยะเวลาการชาร์จให้เร็วขึ้น โดยใช้เวลาเพียง 6 นาที นอกจากนี้ยังคาดว่าเทคโนโลยีใหม่นี้จะช่วยลดจำนวนแบตเตอรี่ที่ต้องสำรองเพื่อรอการชาร์จ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการให้บริการด้วย
ชุดแบตเตอรี่มีระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่ติดตามสถานะแบตเตอรี่ตลอดเวลาและส่งข้อมูลไปยังระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถคาดการณ์การเสื่อมสภาพของแบตเตอรี่ได้อย่างแม่นยำ เมื่อเสื่อมสภาพถึงระดับหนึ่งแล้ว แบตเตอรี่รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเหล่านี้ยังสามารถนำไปใช้ต่อได้หลากหลายรูปแบบ เช่น นำไปดัดแปลงเป็นแบตเตอรี่เก็บพลังงานแบบติดตั้งอยู่กับที่ เป็นต้น
เนเจอร์นิกซ์จะปล่อยเช่าแบตเตอรี่ให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในรูปแบบระบบสมาชิกผ่านผู้ประกอบการฟลีต วิธีนี้ช่วยให้ผู้ประกอบการฟลีตจัดหารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้ลูกค้าได้โดยไม่ต้องแบกรับค่าแบตเตอรี่ ช่วยลดต้นทุนเริ่มแรกที่เป็นอุปสรรคสูงในการเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้า ส่วนโตชิบา ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ คาดว่าจะมีรายได้ต่อเนื่องทั้งจากค่าเช่าแบตเตอรี่และจากการผลิตและการจำหน่าย
สำหรับโครงการทดสอบในครั้งนี้ โตชิบาจะเป็นผู้ส่งมอบ SCiB(TM) ส่วนเนเจอร์นิกซ์จะดูแลการพัฒนาและผลิตชุดแบตเตอรี่ ทั้งสองบริษัทจะร่วมกันรับผิดชอบการจัดการทรัพย์สิน พัฒนาระบบ ติดตั้ง และให้บริการระบบสมาชิกแก่ลูกค้า ทั้งนี้ เนเจอร์นิกซ์มีแผนจะตั้งบริษัทย่อยในประเทศไทยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อผลิตชุดแบตเตอรี่ที่ใช้ SCiB(TM) ในระดับอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายที่จะจัดหาแบตเตอรี่ไม่เพียงแค่สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าและรถสามล้อเท่านั้น แต่ยังจะขยายไปยังรถยกและรถกอล์ฟด้วย
หมายเหตุ 1: SCiB(TM) เป็นเครื่องหมายการค้าของโตชิบา คอร์ปอเรชั่น
หมายเหตุ 2: คุณสมบัติอาจต่างไปตามสภาพการใช้งาน
ที่มา: นิโอ ทาร์เก็ต