นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เปิดเผยว่า สกพอ.ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ซึ่งเป็นหน่วยงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการให้กับประเทศไทย จัดงาน Mini EEC Fair 2024 เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ณ โรงแรมเดอะซายน์ พัทยา ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการนำเสนอข้อมูลและโอกาสทางธุรกิจให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยภายในงานจะมีการจับคู่ธุรกิจไม่น้อยกว่า 400 คู่ ซึ่งทางทีเส็บได้เชิญผู้ขาย 150 ราย และผู้ซื้อ 400 รายมาร่วมงาน เฉพาะการเจรจาธุรกิจภายในงานจะทำให้เกิดการเจรจาซื้อขายทางธุรกิจ 45 ล้านบาท แต่ภายหลังงานเสร็จสิ้นเชื่อว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจหลายพันล้านบาท
นายจุฬา ยกตัวอย่างว่า กรณีกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่มีความสนใจจะมาลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ถ้าได้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมด้านระบบนิเวศเศรษฐกิจสุขภาพ เช่น มีการยกระดับมาตรฐานของร้านนวดและสปา มีการพัฒนาศักยภาพหมอนวดแผนไทย จากที่คิดจะลงทุน 1,000 ล้านบาท ก็อาจลงทุนเพิ่มอีก 100 ล้านบาท เพื่อทำธุรกิจสุขภาพเพิ่มเติม เป็นต้น
ทั้งนี้ อีอีซี เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การจัด Mini EEC Fair 2024 นับเป็นเวทีสำคัญที่แสดงถึงความพร้อมของพื้นที่ EEC ในการรองรับการลงทุน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายสนับสนุน และการให้สิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ที่จูงใจ ผ่านวิธีการเจรจาตามข้อเสนอการลงทุนของนักลงทุนเฉพาะราย โดยมีกรอบสิทธิประโยชน์ที่สำคัญ อาทิ ด้านภาษี ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด เป็นเวลา 1-15 ปี ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกินร้อยละ 50 เป็นเวลา 1-10 ปี สิทธิในการได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร เป็นต้น ด้านที่ไม่ใช่ภาษี อาทิ ด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว มอบ EEC Visa ให้แก่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร ผู้ชำนาญการ และบุคคลในอุปการะ ระยะเวลาสูงสุด 10 ปี รวมไปถึงการให้บริการภาครัฐครบวงจร หรือ EEC One Stop Service (EEC OSS) ซึ่งนักลงทุนสามารถรับบริการด้านอนุมัติ อนุญาต การยื่นคำขอที่เกี่ยวข้องผ่านระบบออนไลน์ รวมทั้งสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ผ่านช่องทาง EEC OSS ได้ เป็นการลดขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
งาน Mini EEC Fair 2024 เป็นงานที่ทีเส็บจัดร่วมกับอีอีซีเป็นปีที่ 3 ซึ่งไม่เพียงแต่แสดงศักยภาพของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางอุตสาหกรรม S-CURVE หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต แต่ยังเป็นเวทีสำคัญที่ใช้กลไกไมซ์ในการเชื่อมโยงนักลงทุนและผู้ประกอบการ เปิดโอกาสใหม่ๆ ในการลงทุนในพื้นที่ EEC ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยให้เพิ่มมากขึ้น โดยมีการจับคู่ธุรกิจ กลุ่มผู้ซื้อจาก BRICS Alliance Thailand ซึ่งมองหาพันธมิตรทางธุรกิจ และขยายเครือข่ายการลงทุนในกลุ่มประเทศ BRICS และมีการนำเสนอโอกาสทางธุรกิจใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์สมัยใหม่ เศรษฐกิจ BCG และอุตสาหกรรมบริการ โดยแต่ละกลุ่มจะนำเสนอนวัตกรรม เทคโนโลยี และโอกาสการลงทุนที่สำคัญในพื้นที่ EEC
"ต้องขอบคุณทีเส็บที่ช่วยจัดงานนี้ขึ้นมา เพราะการจัดงานรูปแบบนี้จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงของเครือข่ายต่างๆ กว้างขึ้นเรื่อยๆ และจะเกิดการต่อยอดจากการลงทุน ทำให้นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในไทยได้เห็นว่า ประเทศไทยมีซัพพลายของสินค้าด้านไหนบ้าง นำไปสู่การสร้างระบบนิเวศของการลงทุน" นายจุฬา กล่าว
ทั้งนี้ ประมาณการณ์ว่ามีนักลงทุนและผู้ประกอบการเข้าร่วมงานกว่า 2,500 ราย จากทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและยุโรป ซึ่งจะนำไปสู่การเจรจาธุรกิจและการลงทุนมูลค่าหลายพันล้านบาท สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว
ที่มา: แบงค์คอกไรเตอร์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส