การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP 29) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง มีขึ้นระหว่างวันที่ 9-22 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ซึ่งการเข้าร่วมของประเทศไทย จะเป็นโอกาสที่จะแสดงบทบาทและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ในการมีส่วนร่วมกับนานาประเทศอย่างแข็งขัน ในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065
ซึ่งสาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ในฐานะประเทศเจ้าภาพและประธานการประชุม COP 29 ได้กำหนด 2 เสาหลักในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเสาหลักที่ 1 การยกระดับความมุ่งมั่น ครอบคลุมการจัดทำนโยบายและแผนงานที่ชัดเจนในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และเสาหลักที่ 2 การสนับสนุนการดำเนินงาน ครอบคลุมกลไกการสนับสนุนต่าง ๆ
โดย การประชุม COP 29 มีเป้าหมายสำคัญที่ต้องการผลักดัน ประกอบด้วย การจัดทำเป้าหมายทางการเงินใหม่ การจัดทำเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดฉบับที่ 2 การจัดทำตัวชี้วัดภายใต้เป้าหมายการปรับตัว ระดับโลก การดำเนินงานของกองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหายให้เป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวการประชุม COP 29 ได้ทาง FB กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
"ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน"#DCCE #กรมลดโลกร้อน #กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม #COP29
ที่มา: กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม