กทม. จัดมาตรการเชิงรุกป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ลดผลกระทบจากบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า

จันทร์ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ ๐๙:๑๐
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงการขับเคลื่อนการควบคุมและลดผลกระทบจากบุหรี่ โดยเฉพาะควันบุหรี่มือสองว่า สนพ. ร่วมกับแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่คณะกรรมการดำเนินการโครงการเครือข่ายคลินิกฟ้าใส องค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาลตำรวจ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินการโครงการ "เครือข่ายคลินิกฟ้าใส" เพื่อสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงที่เข้มแข็งระหว่างโรงพยาบาลและชุมชนในการให้บริการเลิกบุหรี่ในประเทศไทย รวมทั้งพัฒนาให้เกิดระบบบริการเลิกบุหรี่ที่มีมาตรฐานเป็นต้นแบบของประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียโดยเริ่มการรักษาตั้งแต่ในระดับชุมชน กระตุ้นและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเลิกบุหรี่ในประเทศไทย เก็บข้อมูลการให้บริการเลิกบุหรี่ทั่วประเทศไทย เพื่อเป็นข้อมูลของบริการเลิกบุหรี่ในระดับชาติ และกระตุ้นให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในการให้บริการเลิกบุหรี่ และการรักษาโรคติดบุหรี่ทั่วประเทศ

สำหรับคลินิกฟ้าใส เป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างบุคลากรวิชาชีพสุขภาพในสาขาต่าง ๆ ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด และนักจิตวิทยา มีลักษณะเป็น One-Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย สร้างแรงจูงใจในการเข้ารับบริการเพื่อเลิกบุหรี่ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถนัดพบแพทย์และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คลินิกฟ้าใสทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลนคราภิบาล หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพ สนพ. กทม. โทร. 1646 ตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะเดียวกัน ขอเน้นย้ำประชาชนให้ปฏิบัติตามกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ โดยเฉพาะในโรงพยาบาลและสถานพยาบาลทุกประเภท เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ โดยโรงพยาบาล สถานพยาบาล สถานบริการสาธารณสุขและส่งเสริมสุขภาพทุกแห่งถูกกำหนดให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ ทั้งบริเวณภายในและภายนอกอาคาร รวมทั้งสิ่งปลูกสร้าง บริเวณที่จัดไว้ให้ผู้มารับบริการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนในระยะ 5 เมตรจากทางเข้า - ออกของสถานที่ ซึ่งเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภท หรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะ ให้ส่วนหนึ่งส่วนใด หรือทั้งหมดของสถานที่และยานพาหนะเป็นเขตปลอดบุหรี่ หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ. 2561 ซึ่งหากมีการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าในโรงพยาบาล จะเป็นการฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ ตามพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 มาตรา 42 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท เพื่อป้องกันผลกระทบจากควันบุหรี่ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ อาทิ โรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมองตีบ โรคถุงลมโป่งพอง และโรคหอบหืด เป็นต้น รวมทั้งรณรงค์สร้างความตระหนักและให้ความรู้แก่ประชาชน อาทิ ห้ามจำหน่ายบุหรี่ให้แก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามแบ่งจำหน่ายบุหรี่มวน ห้ามการใช้สีสัน ลวดลาย เครื่องหมายการค้า หรือลูกเล่นที่สวยงามบนซองบุหรี่ เพื่อลดแรงจูงใจในการสูบบุหรี่ ลดจำนวนผู้สูบและป้องกันไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่

นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าวว่า สนอ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คณะอนุกรรมการป้องกันและบำบัดผู้เสพยาสูบกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร ได้กำหนดนโยบายและขับเคลื่อนการดำเนินงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ สนับสนุนให้มีการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เช่น กรมควบคุมโรค สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ลดผลกระทบจากบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยจัดสภาพแวดล้อมและจัดทำเขตปลอดบุหรี่ตามกฎหมาย ตรวจสถานที่สาธารณะไม่ให้มีการสูบบุหรี่ เพื่อป้องกันอันตรายจากควันบุหรี่มือสอง พร้อมทั้งกำหนดให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต และศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง รณรงค์การไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในบ้าน และจัดให้มีชุมชนปลอดบุหรี่ต้นแบบ โดยไม่สูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ และไม่สูบบุหรี่ในบ้าน สร้างความร่วมมือกับอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานครรณรงค์เชิญชวนผู้สูบบุหรี่ให้เข้าถึงระบบการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลใกล้บ้าน และประชาสัมพันธ์การรับคำปรึกษาทางศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (สายด่วน 1600) รวมทั้งได้จัดทำฐานข้อมูลผู้เลิกสูบบุหรี่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อติดตามให้เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ นอกจากนี้ ได้จัดให้มีบริการให้คำปรึกษาเลิกบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งและโรงพยาบาลในสังกัด รวมทั้งมีช่องทางการให้บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ โดยศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (สายด่วน 1600) ทั้งนี้ สนอ. ได้บรรจุยาไซทีซีน (Cytisine) ในบัญชียาหลักเรียบร้อยแล้ว เพื่อใช้ในการช่วยเลิกบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งกำหนดจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อเสริมศักยภาพบุคลากรในด้านการให้บริการช่วยเลิกยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า (ยาไซทีซีน : Cytisine) ให้กับแพทย์ เภสัชกร และบุคลากรทางการแพทย์ของ สนอ. ในวันที่ 22 และ 29 พ.ย. และ 16 ธ.ค. 67

ที่มา: กรุงเทพมหานคร

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ