สำหรับการประชุมครั้งนี้ H.E. Mukhtar Babayev ในฐานะประธาน COP29 ได้กล่าวถึง ความคาดหวังต่อการประชุม COP29 ว่าต้องการเสริมสร้างความร่วมมือกับทุกภาคี และมุ่งมั่นที่จะตั้งเป้าหมายทางการเงินใหม่ (NCQG) ให้ได้ โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศพัฒนาแล้วสนับสนุนเงินปีละ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในระยะ 15 ปีข้างหน้า รวมทั้งสร้างความชัดเจนของแผนดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อขับเคลื่อนการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สูงขึ้น นอกจากนี้ Mr. Simon Stiell, Executive Secretary of UNFCCC กล่าวถึง "Climate Crisis" ว่าเป็นปัญหาระดับโลก และ COP29 ต้องเร่งการดำเนินงานทั้งการกำหนดเป้าหมายทางการเงิน การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามข้อ 6 ของความตกลงปารีส เป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อให้สามารถกำหนดตัวชี้วัดร่วมกันโดยเร็ว ซึ่งจะส่งผลไปถึงการดำเนินงานด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กองทุนเพื่อความสูญเสียและความเสียหาย และการจัดทำ NDC 3.0 โดย ทส. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะติดตามประเด็นเจรจาที่สำคัญอย่างใกล้ชิดต่อไป
ในวันเดียวกันนี้ ทส. ยังร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เปิด Thailand Pavilion จัดกิจกรรมคู่ขนานเวที COP29 เป็นวันแรก ต้อนรับผู้มาเยี่ยมชมนิทรรศการผลการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ Technology and Innovation Zone ของประเทศไทย ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงาน โดยเฉพาะกิจกรรมถ่ายภาพและของที่ระลึก "น้องหมูเด้ง" ฮิปโปแคระขวัญใจของชาวไทยและชาวโลก ที่สามารถดึงดูดให้ผู้เข้าร่วมจากนานานประเทศ มาเข้าร่วมกิจกรรมใน Thailand Pavilion ได้เป็นอย่างดี ส่วนเวทีเสวนาคู่ขนาน จะเริ่มเปิดเวทีวันแรกในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 โดยท่านที่สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของการประชุม COP 29 และกิจกรรมคู่ขนานใน Thailand Pavilion ผ่าน Facebook กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้ทุกวันไปจนถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567
ที่มา: กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม