สำหรับผลการดำเนินงานดังกล่าว มีผู้ลงทะเบียนรวม 815 คน (ชาย 645 คน หญิง 170 คน) และมีผู้หมุนเวียนใช้บริการทั้งหมด 464,049 ครั้ง แยกเป็นการช่วยเหลือ เช่น ให้คำปรึกษาแนะนำสิทธิสวัสดิการ 815 ราย บริการแจกอาหาร 371,877 ชุด บริการตรวจสุขภาพ 2,684 ราย บริการทำบัตรประชาชน 226 ราย บริการซัก อบ อาบ 5,912 ครั้ง บริการตรวจสอบสิทธิ/ย้ายสิทธิ 477 ราย บริการตัดผม 1,233 ราย แนะนำ/ต้องการหางานทำ 180 ราย บริการห้องน้ำ ห้องสุขา 80,482 ราย บริการส่งเสริมการฝึกอาชีพ 152 ราย (ความต้องการ) ส่งกลับภูมิลำเนา จำนวน 5 ราย และส่งศูนย์คุ้มครองฯ จำนวน 6 ราย
ส่วนมาตรการเชิงรุก สำนักเทศกิจ (สนท.) และสำนักงานเขตได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจกวดขัน ตรวจสอบความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่บริเวณตรอกสาเก ริมคลองหลอด ถนนราชดำเนิน พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ รวมถึงในพื้นที่ 50 เขต พร้อมสำรวจคนเร่ร่อนไร้บ้านที่พบในพื้นที่ รายงานให้ สพส. ทราบทุกเดือน เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว หากพบการฝ่าฝืนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่สัญจรไปมา หรือสร้างความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ รวมถึงการพักอาศัยหลับนอนในพื้นที่สาธารณะ จะตักเตือนให้ทราบ หากฝ่าฝืนอีกจะดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองพ.ศ. 2535 รวมทั้งประชาสัมพันธ์จุด Drop in เพื่อการเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ และขอความร่วมมือผู้มีจิตกุศลที่ประสงค์จะแจกอาหาร สามารถลงทะเบียนจองวันที่จะบริจาค ผ่าน QR Code ของสำนักงานเขตพระนคร เพื่อนำไปแจกตามจุดที่ราชการกำหนด เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
นอกจากนี้ กทม. ยังมีนโยบายจัดระบบความช่วยเหลือคนไร้บ้านให้มีประสิทธิภาพ อาทิ จัดทำสำมะโนคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้การช่วยเหลือจัดสวัสดิการที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการของคนไร้บ้าน เช่น ช่วยหางาน เพื่อให้มีรายได้ สร้างความมั่นคง การลงเยี่ยมบ้านเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ประกอบการพิจารณาช่วยเหลือรายบุคคล การพัฒนาและคุ้มครองสวัสดิภาพ การใช้ข้อมูลเชิงสถิติในการวางแผนด้านนโยบาย การเตรียมงบประมาณบริหารจัดการ การจัดบริการสวัสดิการสังคมได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งการสร้างระบบการส่งต่อ มาตรการการจัดระเบียบพื้นที่ เพื่อใช้ติดตาม ประสานหรือนำส่งคนไร้บ้านไปยังหน่วยงานที่ให้การช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ตามลักษณะสภาพปัญหาในแต่ละราย เพื่อพัฒนาคนไร้บ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนสามารถกลับคืนสู่ชุมชน สังคมได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันยังบูรณาการภารกิจร่วมกับกรมการจัดหางาน เพื่อส่งเสริมการมีงานทำ การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเร่ร่อนไร้บ้านให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ตามศักยภาพ เพื่อลดจำนวนผู้ที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ รวมทั้ง กทม. อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงบ้านอิ่มใจบริเวณพื้นที่การประปาแม้นศรี (เดิม) เพื่อใช้เป็นศูนย์คัดกรองและช่วยเหลือคนเร่ร่อนไร้บ้านและเป็นสถานที่พักชั่วคราว Emergency shelters (บ้านอิ่มใจ) ให้บริการ 24 ชั่วโมง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีการลงทะเบียนเข้าพักเป็นรายวัน รองรับผู้รับบริการเข้าพัก จำนวน 200 คน (แยกชาย หญิงและเพศทางเลือก)
ที่มา: กรุงเทพมหานคร