"ม.ธรรมศาสตร์" ชวนตามติดการปรับตัวของ "อาจารย์มหา'ลัย" ยุค AI เทคโอเวอร์ โจทย์ท้าทายโลกใหม่การคว้าใบปริญญา และการไขมุมมอง AI ฉลาดแซงหน้ามนุษย์??

พฤหัส ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ ๐๙:๕๓
เจาะเทคนิคการใช้ AI ในเซคฯ "การเรียนล่าม - ฟู้ดไซน์" ผู้ช่วยคนใหม่ที่ทำให้การสอนของอาจารย์แพรวพราว - ฉีกกรอบความรู้ให้กว้างขึ้นในยุคที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กำลังกลายเป็นหัวข้อร้อนแรงและเป็นเครื่องมือสำคัญในหลากหลายวงการ หนึ่งในนั้นคือวงการการศึกษา ซึ่งเห็นได้ว่ามีหลายประเด็นที่ถูกตั้งข้อสงสัยขึ้นทั้งการเรียนรู้ผ่านเครื่องมือ AI บทบาทของ AI ที่จะมาแทนอาชีพครู นักเรียนนักศึกษายุคใหม่ที่ใช้ AI ในการทำงาน ข้ามไปถึงการนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้อย่างแพร่หลายที่อาจทำลายจริยธรรมทางวิชาการในอนาคต
ม.ธรรมศาสตร์ ชวนตามติดการปรับตัวของ อาจารย์มหา'ลัย ยุค AI เทคโอเวอร์ โจทย์ท้าทายโลกใหม่การคว้าใบปริญญา และการไขมุมมอง AI ฉลาดแซงหน้ามนุษย์??

มาถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนคงมีคำถามแล้วว่า AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ และทำหน้าที่ในการเรียนการสอนได้จริงหรือไม่? ผู้รันวงการการศึกษาของไทยอย่าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จึงอยากพาไปเจาะลึกบทบาท AI ในภาคการศึกษาผ่านมุมมองของ ผศ. ดร.กฤติยา เขื่อนเพชร จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร.สานุช เสกขุนทด ณ ถลาง ผู้เชี่ยวชาญจากโครงการแปลและล่ามในยุคดิจิทัล คณะศิลปศาสตร์ ที่จะมาอินไซต์และบอกเล่าประสบการณ์การใช้ AI ในการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ไปดูพร้อมกันเลยว่า จะท้าทายแนวคิดการใช้เทคโนโลยีในภาคการศึกษาไทยอย่างไรกันบ้าง…

Generative AI เครื่องมือสุด Mass ที่ช่วยลดความซ้ำซ้อนของการเรียน "สายวิทย์"

อย่างที่เรารู้กันว่างานของครูและอาจารย์ มิได้มีแค่งานสอนในห้องเรียนอย่างเดียว แต่ยังมีงานส่วนอื่น ๆ ที่เป็นหน้าที่ที่สำคัญไม่แพ้กัน เช่น การจัดการเรียนการสอน การดูแลให้คำแนะนำผู้เรียน การพัฒนาตนเอง หรือแม้แต่งานบริการ โดย อาจารย์เจี๊ยบ-ผศ. ดร.กฤติยา เขื่อนเพชร ได้เล่าถึงประโยชน์ของ AI ในด้านการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจว่า AI ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยแบ่งเบาภาระงานของครูและอาจารย์ในหลายด้าน โดยเฉพาะงานที่ใช้เวลามาก คือ สามารถช่วยออกแบบแผนการสอนได้โดยการวิเคราะห์เนื้อหาและจัดสรรข้อมูลให้ตรงกับมาตรฐานการเรียนรู้ของนักศึกษา อีกทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกในการออกแบบสื่อการสอนที่มีความน่าสนใจ เช่น การสร้างภาพและสื่อโสตทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับบทเรียน เพื่อให้เนื้อหาดูน่าสนใจและเข้าถึงนักศึกษายุคใหม่ได้ดียิ่งขึ้น

"ส่วนตัวอาจารย์เองเป็นผู้ช่วยคณบดี ภายใต้การนำของ รศ.ดร.สุเพชร จิรขจรกุล ซึ่งท่านเป็นผู้ริเริ่มใช้ AI ในคณะวิทย์ ทำให้เราเองต้องศึกษาและได้เรียนรู้เทคโนโลยีด้านนี้ไปด้วย โดยทุกวันนี้ก็มีใช้ ChatGPT Perplexity Copilot มาช่วยสร้างแรงบันดาลใจและร่างแนวคิดเบื้องต้น จากนั้นก็นำมาต่อยอดและพัฒนาสร้างสรรค์ให้เป็นไอเดียใหม่ ๆ เพื่อการออกแบบสื่อการเรียนการสอน สร้างภาพจำลองกระบวนการผลิต โมเดลอาหารต้นแบบ บรรจุภัณฑ์อาหาร เสริมไอเดียผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร วิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาด ประเมินความต้องการของผู้บริโภค และคาดการณ์แนวโน้มทางอาหารในอนาคต ซึ่งสิ่งนี้ช่วยให้เรามีเวลาในการพัฒนาตนเองและทำงานบริการอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย นวัตกรรมใหม่ ๆ หรือการบริการวิชาการที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ของสังคมมากขึ้น นับว่า AI ได้มาเสริมสร้างประสิทธิภาพในระบบการศึกษาและเพิ่มคุณภาพการสอนให้ดียิ่งขึ้นอีก"

ทั้งนี้ อาจารย์เจี๊ยบ เสริมต่อว่า AI ไม่ได้เป็นศัตรูหรือภัยคุกคามต่อบทบาทของครูผู้สอน แต่กลับเป็น "ผู้ช่วย" ที่มีศักยภาพสูงในการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกระบวนการเรียนรู้ โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าอาจารย์จะต้องวิเคราะห์ข้อมูลทุกอย่างของ AI อีกขั้นหนึ่งก่อนที่นำไปสอนนักศึกษา โดยนักศึกษาเองก็สามารถใช้ AI ในการเรียนได้เช่นเดียวกัน ซึ่งช่วยนักศึกษาเข้าใจเนื้อหาเชิงลึกบางอย่างได้รวดเร็ว อาทิ การใช้ AI ในการค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้านการผลิตและแปรรูปอาหาร ช่วยแปลและสรุปเนื้อหาจากบทความวิจัยต่างประเทศให้เข้าใจง่ายขึ้น หรือการวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อน และในขณะเดียวกันยังสามารถเพิ่มการเข้าถึงเนื้อหาที่หลากหลาย โดยจะต้องใช้อย่างชาญฉลาดและรู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลเท็จ/จริง มิใช่นำข้อมูลของ AI มาใช้จนหมดและไม่ผ่านการไตร่ตรองเลย

AI ยังมีบทบาทสำคัญในการเสริมการเรียนการสอนเพื่อพัฒนา Soft Skills ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ซึ่งสามารถช่วยให้นักศึกษาพัฒนาทักษะสำคัญเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การใช้ AI ช่วยฝึกทักษะการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูล รวมถึงการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการ นักศึกษาสามารถใช้ AI เป็นเครื่องมือในการค้นหาข้อมูลจาก Big Data ฝึกฝนแนวคิด Design Thinking และ Lean Canvas รวมถึงเรียนรู้การตั้งราคาและหาจุดคุ้มทุนซึ่งอาจจะดูห่างไกลจากความเป็นวิทยาศาสตร์ แต่สามารถเรียนรู้ได้อย่างง่ายดายด้วย AI ทำให้การเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้เป็นไปอย่างสนุกและเข้าใจได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

"บทบาทของอาจารย์ยังคงสำคัญมากในการชี้นำและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษา โดย AI เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนก็จริง แต่สุดท้ายแล้วการเรียนรู้ที่มีคุณค่ามากที่สุดคือการเรียนรู้ที่เกิดจากการสนทนาและการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างบุคคล" อาจารย์เจี๊ยบลงความเห็นเพิ่มเติม

เมื่อวงการล่ามถูก AI ดิสรัปชั่น การเข้าใจธรรมชาติและความสามารถของ AI จึงเริ่มอย่างเข้มข้น

ด้าน อาจารย์นก-ดร.สานุช เสกขุนทด ณ ถลาง โครงการแปลและล่ามในยุคดิจิทัล คณะศิลปศาสตร์ เปิดเผยถึงการเปลี่ยนแปลงในวงการศึกษา โดยเฉพาะด้านการแปลภาษาและล่าม ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ต้องการความเข้าใจเชิงลึกทั้งในด้านภาษาและบริบทวัฒนธรรมว่า ทุกวันนี้ AI ได้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนวงการแปลเป็นอย่างมาก กล่าวคือ นักศึกษาสามารถใช้เทคโนโลยี AI เพื่อช่วยให้การแปลและการเข้าใจภาษาที่สามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว พร้อมเป็นเครื่องฝึกฝนตนเองในด้านภาษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

พร้อมกันนี้ อาจารย์นกได้ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดสำคัญที่ยังคงมีอยู่ใน AI และแอปแปลภาษาต่าง ๆ คือ แม้ว่า AI จะสามารถแปลข้อความได้อย่างรวดเร็ว แต่มักยังขาดความสามารถในการเข้าถึงบทบาทและความหมายเชิงลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการเข้าใจอารมณ์และบริบทที่อยู่เบื้องหลังคำพูดหรือข้อความนั้น ๆ การแปลความหมายโดย AI ยังไม่สามารถจัดการกับเรื่องที่มีความเซนซิทีฟได้ซึ่งหากใช้โดยไม่มีมนุษย์ช่วยตรวจทานอาจสร้างความเข้าใจผิดได้ ตัวอย่างเช่น ประโยค "การผ่าตัดของคุณหมอวันนี้คนไข้ตายแน่นอน" อาจสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ฟัง แต่หากแปลโดยมนุษย์จะสามารถปรับเปลี่ยนเป็น "การผ่าตัดของคุณหมอวันนี้มีโอกาสสำเร็จน้อย" ซึ่งสามารถช่วยลดความรุนแรงของข้อความได้ เป็นต้น ทำให้การแปลของ AI ยังคงมีความแตกต่างจากการแปลที่ทำโดยมนุษย์ที่เข้าใจในแง่มุมละเอียดอ่อนเหล่านี้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ AI ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในวิชาชีพและการเรียนการสอนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งผู้สอนจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอน โดยเน้นให้นักศึกษารู้จักใช้ AI อย่างมีประสิทธิภาพและตระหนักถึงข้อจำกัดของเทคโนโลยี AI พร้อมกระตุ้นให้นักศึกษาต้องเรียนรู้ทักษะที่จำเป็น เช่น การเข้าใจบริบทและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทักษะที่ AI ยังไม่สามารถแทนที่ได้ ผลในการพึ่งพา AI มากเกินไป อาจทำให้นักศึกษาขาดความเข้าใจเชิงลึกในประเด็นที่ต้องอาศัยการตีความเชิงมนุษย์

"ปัจจุบัน AI ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในวงการแปลภาษา โดยช่วยให้กระบวนการทำงานสะดวกขึ้น เช่น การแปลข้อความอัตโนมัติ และการจัดการข้อมูลที่ซับซ้อน แต่ในทางกลับกัน AI ยังเป็นตัวกระตุ้นให้หลักสูตรการเรียนการสอนต้องปรับตัวเพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับนักศึกษา ซึ่งข้อดีของ AI คือ ช่วยเพิ่มความเร็วและความสะดวกในการแปล แต่ข้อจำกัดของมันคือ AI จะไม่เข้าใจบริบททางวัฒนธรรมและให้อารมณ์ของงานแปลให้มีความหมายลึกซึ้งได้เลย ซึ่งส่วนนี้ยังต้องอาศัยมนุษย์ในการตัดสินใจ เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องสอนนักศึกษาให้พร้อมรับมือกับข้อจำกัดของ AI" ดร.สานุช ขยายความ

ข้อต้องคิด "อย่าให้ AI มา Generate ไอเดีย"

ดร.สานุช ได้แบ่งปันประสบการณ์การนำ AI มาใช้อีกว่า ไม่ว่าจะเป็น ChatGPT Claude Gemini หรือ Perplexity ที่ใช้ในสื่อการสอน หรือการทำงานวิชาการอื่น ๆ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยในการแปลภาษาเบื้องต้น แต่ยังสามารถเป็นแหล่งข้อมูลและที่ปรึกษาสำหรับการตรวจสอบความถูกต้องของภาษาและแนวคิดต่าง ๆ ในการแปลได้อีกด้วย และแม้ว่า AI เป็นเครื่องมือที่ยอดเยี่ยม แต่ด้วยเทคโนโลยีในตอนนี้ AI ยังไม่ควรนำมาใช้ในการแปลเอกสารที่มีความสำคัญมาก ๆ เช่นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เอกสารเกี่ยวกับการทูต หรือเอกสารทางกฎหมายต่าง ๆ เพราะระดับความสำคัญทำให้ต้องใช้คนทำความเข้าใจ ตีความและลงมือทำด้วยตนเองอยู่ แต่เอกสารอื่น ๆ สามารถทำได้โดยผู้ใช้จะต้องมีความรู้ที่มากกว่า AI เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่ AI ผลิตออกมาให้

"แม้ AI จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอน แต่ผู้สอนต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้และต้องรู้วิธีการผสานเทคโนโลยีเข้ากับกระบวนการเรียนการสอนให้ได้ โดยการสอนนักศึกษาให้รู้จักใช้ AI อย่างชาญฉลาดจะเป็นการเตรียมพวกเขาให้พร้อมสำหรับโลกแห่งการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และอาจารย์ยังคงมีบทบาทสำคัญในการชี้นำทิศทางการเรียนรู้และสร้างบรรยากาศการศึกษาที่มีความหมาย ส่วน AI ควรเป็นเพียงเครื่องมือเสริมที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้เท่านั้น และอย่าให้AI มา Generate ไอเดีย เพราะจะทำให้เราคิดไม่เป็น แต่ใช้ Brainstorm ได้ โดยควรใช้อย่างมีจริยธรรม ยึดมั่นเสมอว่า ผู้ใช้ AI จะต้องรู้การนำไปใช้มากกว่า AI เสมอ และจะต้องวิเคราะห์ข้อมูลที่ AI แสดงผลออกมา คิดเสมอ 'You are THE BOSS'"

แม้ว่าการใช้ AI จะเป็นก้าวใหม่ที่น่าตื่นเต้น แต่การนำเทคโนโลยีเข้ามาไม่ได้หมายความว่าจะต้องแทนที่อาจารย์ อาจารย์ยังคงเป็นหัวใจของการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ โดยทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำแนะนำและสนับสนุนนักศึกษาอย่างใกล้ชิด ขณะที่ AI จะเข้ามาช่วยเสริมในด้านการจัดการข้อมูล การประเมินผล และการนำเสนอเนื้อหาที่สร้างสรรค์ ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารระหว่างบุคคล

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังคงเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนการสอนให้ได้ผลดีต่อนักศึกษาที่สุด ประกอบกับส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ และสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ผสานเทคโนโลยีเข้ากับการสอนที่มีมนุษยธรรม จริยธรรม ซึ่งเป็นการพัฒนาการศึกษาให้ก้าวหน้าขึ้น พร้อมเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้และเติบโตในยุคดิจิทัลที่ AI มีบทบาทสำคัญ

ที่มา: เจซีแอนด์โค คอมมิวนิเคชั่นส์

ม.ธรรมศาสตร์ ชวนตามติดการปรับตัวของ อาจารย์มหา'ลัย ยุค AI เทคโอเวอร์ โจทย์ท้าทายโลกใหม่การคว้าใบปริญญา และการไขมุมมอง AI ฉลาดแซงหน้ามนุษย์??

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ