นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า แอมโมเนียมักถูกใช้ในโรงงานผลิตน้ำแข็ง โรงงานผลิตอาหารแช่แข็ง และห้องเย็น มีฤทธิ์กัดกร่อน เป็นอันตรายต่อร่างกาย กรณีพบสารแอมโมเนียรั่วไหลในโรงงานผลิตน้ำแข็ง สารแอมโมเนียที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด โดยแอมโมเนียมีสถานะเป็นก๊าซ ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน ถ้ามีความเข้มข้นสูง จัดเป็นสารที่มีความเป็นพิษ และเป็นอันตรายต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ดวงตา ผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ หากสัมผัสหรือเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน เมื่อก๊าซแอมโมเนียสัมผัสกับน้ำจะทำให้เกิดปฏิกิริยา มีฤทธิ์กัดกร่อนเนื้อเยื่อ เยื่อบุต่างๆ ของร่างกายที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสบตา ตาบวม น้ำตาไหล เวียนหัว ตาลาย อาเจียน ระคายเคืองผิวหนัง แสบคันตามผิวหนัง เป็นแผลไหม้ หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากทำให้แสบจมูก แสบคอได้ อาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ โดยกลุ่มเสี่ยงที่จะสูดดมแอมโมเนีย ได้แก่ พนักงานโรงงาน เจ้าหน้าที่กู้ภัย และประชาชนที่อยู่ใต้ลมใกล้เหตุรั่วไหล
"อุบัติเหตุรั่วไหลของแอมโมเนียในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจากการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งาน อุปกรณ์ชำรุด เช่น วาล์วรั่ว ท่อส่งก๊าซแตก เกิดความผิดพลาดระหว่างการจัดเก็บหรือขนย้ายสารแอมโมเนีย และขาดการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง"
นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวถึง วิธีป้องกันก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล สำหรับประชาชน ดังนี้ 1.ต้องคอยสังเกต หากได้กลิ่นแอมโมเนียเหม็นผิดปกติ ให้รีบแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที 2.หากเกิดเหตุให้รีบอพยพในทิศทางเหนือลม และออกจากพื้นที่เกิดเหตุโดยเร็วที่สุด 3.หากสารเข้าตาหรือโดนผิวหนัง ให้ล้างด้วยน้ำสะอาด และถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนแอมโมเนียออกทันที 4.หากพบผู้หมดสติให้รีบเคลื่อนย้ายไปยังที่ปลอดภัย อากาศถ่ายเทสะดวก และรีบนำส่งโรงพยาบาล 5.ผู้มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ สังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอมากขึ้น หายใจมีเสียงหวีด และมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
วิธีป้องกันก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล สำหรับผู้ประกอบการโรงงานและพนักงาน ดังนี้ 1.สวมอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยขณะปฏิบัติงาน 2.หมั่นตรวจสอบบำรุงรักษาถัง/ท่อส่งก๊าซอย่างสม่ำเสมอ 3.จัดเก็บถังแอมโมเนียในพื้นที่ที่ปลอดภัย 4.จัดทำแผนและซ้อมแผนการรับมือเหตุฉุกเฉิน กรณีเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหล อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ที่มา: สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา