ลดโลกร้อน ลดขยะอาหารในมือด้วยการจัดการที่คุ้มค่าตั้งแต่ต้นทาง

จันทร์ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ ๐๘:๕๗
"ขยะอาหาร" ไม่เพียงแต่สร้างมลพิษให้กับระบบนิเวศจนเกิดความสูญเสียทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ซึ่งยังเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันบูรณาการหาแนวทางแก้ไขเพื่อลดสัดส่วนขยะอาหารให้ได้ตามเป้าหมายเหลือร้อยละ 28 ภายในปี 2570
ลดโลกร้อน ลดขยะอาหารในมือด้วยการจัดการที่คุ้มค่าตั้งแต่ต้นทาง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ จึงได้ดำเนินการจัดทำแผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (พ.ศ. 2566 - 2573) และแผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหารระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 - 2570) ซึ่งคณะกรรมการอาหารแห่งชาติมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ถือเป็นกรอบและทิศทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการจัดการขยะอาหารของประเทศ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง จนถึงปลายทาง โดยความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ภายใต้ 3 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการที่ 1 การป้องกันและลดการเกิดขยะอาหาร ในกลุ่มผู้จำหน่ายอาหาร ผู้ประกอบอาหารและผู้บริโภค และการจัดการอาหารส่วนเกิน มาตรการที่ 2 การจัดการและการใช้ประโยชน์ขยะอาหาร และมาตรการที่ 3 การพัฒนาเครื่องมือบริหารจัดการอาหารส่วนเกินและขยะอาหาร

สำหรับแนวทางการจัดการขยะที่เหมาะสมจะมุ่งเน้นความสำคัญในการป้องกันและลดการเกิดขยะให้มากที่สุด รวมถึงการนำขยะอาหารไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า เพื่อให้เหลือปริมาณขยะอาหารที่ต้องกำจัดน้อยที่สุด โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้วางแนวทางเอาไว้คือ การป้องกันการเกิดและลดขยะอาหารที่แหล่งกำเนิด (Food Waste Prevention and Reduction) ซึ่งจะป้องกันไม่ให้เกิดและลดขยะอาหารตั้งแต่ต้นทาง โดยวางแผนการผลิต/ซื้อให้พอดีกับความต้องการในการจำหน่ายอาหาร การประกอบอาหาร และการบริโภค เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอาหารเกินความต้องการทั้งในระดับธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งมีแนวทางดังนี้

1.จัดการกับวัตถุดิบและอาหารส่วนเกินก่อนที่จะกลายเป็นขยะอาหาร เช่น การถนอมอาหารจากวัตถุดิบส่วนเกิน หรือการดัดแปลงเมนูจากอาหารส่วนเกิน เพื่อที่ยังสามารถรักษาคุณค่าทางโภชนาการและลดค่าเสียหายจากการทิ้งสินค้า หรืออาหารส่วนเกิน 2. การแบ่งปันให้ผู้ด้อยโอกาส (Feed Hungry People) ถือเป็นการบริจาคอาหารส่วนเกินให้กับธนาคารอาหาร โรงทาน และสถานสงเคราะห์ เพื่อที่ส่งต่อคุณค่าทางโภชนาการของอาหารที่ยังมีความเหมาะสมให้ผู้อื่นบริโภค

นอกจากนี้ การนำขยะอาหารที่เกิดขึ้นไปใช้ประโยชน์ ซึ่งคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ สามารถนำไปใช้เพื่อการเลี้ยงสัตว์ (Feed Animals) เป็นการคงคุณค่าทางโภชนาการได้มากที่สุด และลดค่าใช้จ่ายของผู้เลี้ยงสัตว์ โดยคำนึงถึงข้อจำกัดและมาตรฐานอาหารสัตว์แต่ละประเภท เช่น ปลา โค กระบือ สุกร หนอนแมลงวันลาย ไส้เดือน รวมถึงสัตว์เลี้ยงในสวนสัตว์หรือบ้านเรือนทั่วไป เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรม (Industrial Uses) ได้อีก ซึ่งยังคงคุณค่าทางวัสดุและศักยภาพ การแปลงเป็นพลังงาน รวมทั้งเพิ่มมูลค่าให้กับขยะอาหารโดยนำขยะอาหารประเภทต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์เชิงอุตสาหกรรมด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น นำขยะอาหารประเภท น้ำมันใช้แล้วไปแปรรูปเป็นไบโอดีเซลหรือสบู่ หรือ นำขยะอาหารรวมมาหมักแบบไร้อากาศ เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพและแปลงเป็นพลังงาน เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถนำไปทำปุ๋ย (Composting) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการคงคุณค่าทางแร่ธาตุ โดยนำขยะอาหารมาหมักทำปุ๋ยแบบใช้อากาศ ปรับปรุงสภาพดินและเพิ่มธาตุอาหารให้พืชเพื่อผลิตอาหารใหม่ สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน และเป็นการเก็บกักคาร์บอนในดินอีกด้วย

ส่วนของการกำจัดโดยการฝังกลบ/การเผา (Landfill/Incineration) เป็นขยะส่วนที่เหลือ ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ให้นำมากำจัดโดยการฝังกลบหรือเผาในเตาเผา ซึ่งการกำจัดนี้จะเป็นการจัดการในขั้นสุดท้ายที่จำเป็นต้องนำขยะอาหารส่วนที่เหลือน้อยที่สุดมากำจัด

สำหรับแนวทางการจัดการขยะอาหารนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามบริบทของแต่ละท้องถิ่นได้ ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่กรมควบคุมมลพิษและกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกันขับเคลื่อนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เกิดการบริหารจัดการขยะอาหารอย่างเป็นรูปธรรม ครอบคลุมทั้งระบบตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง อีกทั้งยังเป็นการพัฒนากลไกในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะอาหาร รวมทั้งพัฒนาปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งมีการจัดการขยะอาหารที่ต้นทางผ่านโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงมีการคัดแยกและเก็บขนขยะมูลฝอยแบบแยกประเภท

ทั้งหมดนี้เป็นคำแนะนำแนวทางการจัดการขยะอาหารสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมาย 8 กลุ่ม ได้แก่ 1) บ้านเรือน 2) ศูนย์ราชการ/อาคารสานักงาน/โรงเรียน 3) ศูนย์อาหาร/ร้านอาหาร/ภัตตาคาร 4) ซูเปอร์มาร์เก็ต/ร้านสะดวกซื้อ 5) ตลาด 6) วัด 7) คอนโดมิเนียม/อาคารสูง และ 8) โรงแรม เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินงานจัดการขยะอาหารได้อย่างเหมาะสม และเกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งผู้สนใจสามารถนำข้อมูลนี้ไปเผยแพร่สร้างการรับรู้และต่อยอดด้านการจัดการขยะได้ โดย ดาวน์โหลดข้อมูลที่เว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ https://www.pcd.go.th/garbage/

มาร่วมช่วยกันทำให้อาหารในมือเราไม่กลายเป็นขยะที่ต้องถูกกำจัดทิ้งไปอย่างไร้ค่า เพราะอย่างน้อยได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง แถมยังได้ช่วยลดโลกร้อน และลดมลพิษจากขยะอาหารได้อีกด้วย

ที่มา: ซี.เอ.อินโฟมีเดีย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ