อาการและอาการแสดง แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะแรก จะเริ่มมีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป คือ มีน้ำมูก และไอ อาจจะเป็นได้ตั้งแต่ไข้ต่ำ ๆ ตาแดง น้ำตาไหล ช่วง 1-2 สัปดาห์ ระยะนี้ส่วนใหญ่จะยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ชัดเจน ยกเว้นมีอาการไอเกิน 10 วัน ซึ่งอาการไอ ที่ต้องเฝ้าสังเกตุ ว่าอาจติดเชื้อโรคไอกรน คือ
- มีเสียงของลมหายใจดัง "วู้ป"
- อาเจียน ในขณะไอหรือหลังอาการไอ
- มีอาการหน้าเขียว หรือหน้าแดงหลังอาการไอ
- รู้สึกเหนื่อยมากหลังอาการไอ
- ระยะของอาการไอเป็นชุด ๆ เริ่มเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 มักจะเป็นอาการไอแห้ง ๆ ไอไม่มีเสมหะ แต่จะมีอาการไอถี่ ๆ ติดกันเป็นชุด ๆ 5-10 ครั้ง จบท้ายด้วยการหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียงวู๊บ "Whoop" ซึ่งเกิดจากเสียงหายใจเอาลมเข้าอย่างแรง ในช่วงที่มีอาการไอมาก ๆ นั้น ผู้ป่วยมักจะมีน้ำมูกน้ำตาไหล ตาแดง ตาถลน ลิ้นจุกปาก หายใจลำบาก ซึ่งเป็นการพยายามกำจัดเสมหะที่เหนียวข้นออกนั่นเอง ในเด็กทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน จะพบอาการหายใจไม่ทัน อาการเขียวได้บ่อย ๆ บางครั้งรุนแรงจนหยุดหายใจร่วมด้วย ระยะไอของช่วงอาการนี้จะเป็นอยู่ได้นาน 2-4 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านี้ได้
- ระยะฟื้นตัวเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ อาการไอเป็นชุด ๆ นั้น จะค่อย ๆ ลดลง ทั้งความรุนแรง และความถี่ของการไอ ดังนั้นหากไม่มีอาการแทรกซ้อนของปอดอักเสบ หรืออาการอื่น ๆ จะใช้เวลา 6-10 สัปดาห์อาการดีขึ้น
การวินิจฉัยไอกรน
วินิจฉัยจากอาการลักษณะของการไอเป็นหลัก หรือตรวจร่างกายในระยะแรกจะมีอาการคล้ายกับโรคในระบบทางเดินหายใจทั่วไปดังนี้
- การเพาะเชื้อ โดยการเก็บตัวอย่างเชื้อหรือสารคัดหลั่งที่บริเวณจมูก หรือลำคอไปตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย
- การตรวจเลือด จะพบว่าเซลล์เม็ดเลือดขาวมีจำนวนที่มากขึ้นจะแสดงถึงการติดเชื้อหรือการอักเสบที่เกิดขึ้น
- การเอกซเรย์ทรวงอก อาจมีอาการของหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ซึ่งเป็นอาการแทรกซ้อนได้
การรักษาไอกรน
- เน้นการประคับประคองตามอาการ เน้นลดการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งบรรเทาอาการไอ และลดปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการไอ เช่น เพิ่มความชุ่มชื้นของทางเดินหายใจ และการขจัดเสมหะ
- ยาปฏิชีวนะ เช่น อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) คลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) ต่อเนื่องนานประมาณ 2 สัปดาห์ (14วัน)
สำหรับผู้ป่วยเด็กทารก หรือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อดูแลอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับระบบการหายใจ หรือมีการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำร่วมด้วยหากผู้ป่วยมีอาการของภาวะขาดน้ำ
ภาวะแทรกซ้อนของไอกรน
เด็กทารกและเด็กเล็ก เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนด อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เด็กโตและผู้ใหญ่ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจะไม่รุนแรง
- ระบบทางเดินหายใจ คือ อาการปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ และปอดแฟบจากการที่มีเสมหะไปอุดตัน
- อาการแทรกซ้อนจากการไอที่รุนแรง คือ เลือดออกเยื่อบุตา จ้ำเลือดผิวหน้า ผิวรอบดวงตา อาจรุนแรงไปจนถึงเลือดฝอยเล็กในสมองได้
- ระบบประสาท อาจมีอาการชักในเด็กเล็ก เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยงสมองชั่วขณะ ตอนที่มีไอถี่ ๆ และอาจมีเลือดออกในสมองได้
วิธีการป้องกันโรคไอกรน
โรคไอกรน เป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนเข็มรวม คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ซึ่งเป็นวัคซีนภาคบังคับอยู่แล้ว เริ่มฉีด 3 เข็มแรกที่อายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน และเข็มที่ 4 เมื่อเด็กมีอายุ 18 เดือน จากนั้น เข็มที่ 5 ตอนอายุ 4-6 ปี แนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นทุก 10 ปี เนื่องจากวัคซีนที่ได้รับในวัยเด็กจะหมดลงในช่วงวัยรุ่นและในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ บุคคลทั่วไป สามารถป้องกันการติดเชื้อไอกรนได้ ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
- การรับประทานยาปฏิชีวนะ
ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยา Erythromycin เชื้อจะหมดไปภายใน 5 วัน จึงควรแยกผู้ป่วยอย่างน้อย 5 วัน นับจากวันที่เริ่มให้ยา หรือแยก 3 สัปดาห์ หลังจากที่เริ่มมีอาการไอของระยะไอเป็นชุด ๆ
หากพบว่ามีการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยเป็นโรคไอกรน เพื่อป้องกันและลดการแพร่กระจายของเชื้อ โดยเฉพาะ ทารกที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคไอกรนได้มากที่สุด และผู้ที่กำลังตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนการคลอด รวมทั้งในเด็กเล็กเองถึงแม้จะได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนอย่างน้อย 4-5 โดส (ระดับภูมิคุ้มกันอาจไม่สูงพอได้ในบางราย) ควรได้รับยา Erythromycin ด้วยเช่นกัน
- การดูแลสุขอนามัยของทางเดินหายใจที่ดี จะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อ ซึ่งสามารถปฏิบัติได้โดย
การสวมใส่หน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในแหล่งชุมชมหรือสาธารณะ หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่เป็นประจำ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หากมีความจำเป็นต้องไอจาม ควรมีอุปกรณ์ป้องกัน เช่น กระดาษ ทิชชู่ แล้วทิ้งทันที
ข้อสงสัยที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคไอกรน
- สำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี ที่สัมผัสผู้ป่วยโรคไอกรน หากยังไม่เคยได้รับวัคซีน หรือได้ไม่ครบ 4 โดส สามารถรับวัคซีนได้ตามกำหนดการรับวัคซีน หรือกระตุ้นอีก 1 ครั้งได้เลย
- เด็กที่เคยได้รับวัคซีนมาแล้วภายใน 3 ปี หรือเป็นเด็กอายุเกิน 6 ปี ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 4-5 โดส ไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นเพิ่ม
- แต่ถ้าเป็นเด็กอายุเกิน 6 ปี ขึ้นไป แต่ได้รับวัคซีนครั้งที่ 3 มานานเกิน 6 เดือน สามารถรับวัคซีนโดสที่ 4 ได้ทันที หลังสัมผัสโรค
ดังนั้นมาตรการทางสาธารณสุข การใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือ ยังคงเป็นมาตรการที่ช่วยลดการแพร่เชื้อ และลดโอกาสการรับเชื้อโรคไวรัสทางเดินหายใจทุกชนิดอยู่ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคำปรึกษาได้ที่ ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children's Health Center) โรงพยาบาลนวเวช โทร. 1507 Line: @navavej
ที่มา: โรงพยาบาลนวเวช