ภายใต้ความร่วมมืออันเข้มแข็งต่อเนื่องของทุกภาคส่วน ปัจจุบัน มีโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดีที่อยู่ในสังกัดสพฐ. เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 6,949 แห่งทั่วประเทศ มีนักเรียนที่ได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาสะสมแล้วกว่า 2.31 ล้านคน ขณะที่มีผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner) จำนวน 1,900 คน พร้อมด้วย ICT Talent อีก 2,400 คน เพื่อติดตามและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาให้ครอบคลุมทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ อีกทั้ง ยังพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการศึกษา 82,000 คน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ รวม 3,757.59 ล้านบาทในระยะดำเนินงานที่ผ่านมา โดยผลการดำเนินงานของมูลนิธิฯ มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับ 5 ยุทธศาสตร์หลัก ผ่านความร่วมมือในการดำเนินงานของ 5 คณะทำงาน ภาครัฐ-เอกชน ที่มาช่วยเสริมแกร่งให้เป็นไปตามเป้าหมายของมูลนิธิฯ ได้แก่
- ยุทธศาสตร์ที่ 1 : การเปิดเผยข้อมูลสถานศึกษาสู่สาธารณะอย่างโปร่งใส (Transparency) มุ่งเน้นให้มีการนำระบบ School Management System (SMS) มาใช้กับโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารจัดการ พร้อมสร้างมาตรฐานการประเมินเชิงคุณภาพด้วย Chula Model และการปรับตัวชี้วัดตามบริบทโรงเรียน ทั้งนี้ ยังวางแผนถอดบทเรียนโรงเรียนต้นแบบเพื่อขยายผลสู่โรงเรียนอื่นๆ ต่อไป
- ยุทธศาสตร์ที่ 2 : กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม (Market Mechanisms) ส่งเสริมให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาไทย โดยเปิดโอกาสให้ร่วมระดมทุนในโครงการ "โน้ตบุ๊กเพื่อการศึกษา" โดยมีเป้าหมายจัดหาโน้ตบุ๊กให้โรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ระดมทุนได้แล้วกว่า 23 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังพัฒนาศักยภาพ School Partner พนักงานจิตอาสา ให้มีส่วนร่วมวิเคราะห์และประเมินโรงเรียนตามหลักยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
- ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน (High Quality Principals & Teachers) มูลนิธิฯ มีนโยบายพัฒนา "ICT Talent ภาครัฐ" ให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนภายในปี 2570 รวมถึงการปรับหลักเกณฑ์การโอนย้าย การประเมินวิทยฐานะ และการปรับเงินเดือนให้กับครูและผู้บริหาร นอกจากนี้ ยังมีโครงการอบรมเข้มข้นเพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้สอนสู่การเป็นครูผู้ส่งเสริมให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี
- ยุทธศาสตร์ที่ 4 : เด็กเป็นศูนย์กลาง เสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ (Child Centric & Curriculum) สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ Learning Center ในโรงเรียนคุณภาพ 1 โรงเรียนต่อ 1 เขตพื้นที่เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้เด็กได้เรียนตามความสนใจ พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้ในด้านทักษะสำคัญในยุคดิจิทัล
- ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา (Digital Infrastructures) มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในโรงเรียน เพื่อรองรับการเรียนรู้แห่งอนาคต รวมถึงการติดตั้งการคัดกรองข้อมูล (Filtering Software) เพื่อให้เยาวชนเข้าถึงแหล่งข้อมูลอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย พร้อมส่งเสริมหลักสูตรด้านเทคโนโลยี AI และทักษะดิจิทัล
แนวทางยุทธศาสตร์ 5 หลักนี้ ได้นำมาประยุกต์ใช้ในโรงเรียนคอนเน็กซ์อีดี จนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และกลายเป็นโรงเรียนต้นแบบคอนเน็กซ์อีดีสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังเช่น โรงเรียนบ้านตำหรุ (วิงประชาสงเคราะห์) จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ตัวแทนคณะครูและนักเรียน ได้มาร่วมนำเสนอแนวทางความสำเร็จในการพัฒนาโรงเรียนตามแนวทางดังกล่าว ทั้งนี้ มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ยังคงยืนหยัดในการพัฒนาการศึกษาไทย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ทั้งในเชิงนโยบาย การสนับสนุนโรงเรียนและบุคลากร ตลอดจนการมอบโอกาสให้เยาวชนทุกคนได้พัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อสร้างสรรค์สังคมและประเทศให้ก้าวไกล
สำหรับองค์กรที่สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-858-1881-2 หรืออีเมล : [email protected] รวมถึงสามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรมของมูลนิธิฯ ได้ที่ connexted.org
เว็บไซต์: http://connexted.org
FB: CONNEXT ED
ที่มา: มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี