ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ส่งเสริมงานวิจัยที่นำมาใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพในหลากหลายมิติ โดยโครงการอาคารคาร์บอนต่ำถือเป็นก้าวสำคัญ ในการนำงานวิจัยและนวัตกรรมนำการออกแบบอาคารให้สอดคล้องกับหลักการการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โครงการนี้สามารถเป็นต้นแบบที่มีคุณค่าให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในการนำไปใช้ต่อยอดและปรับปรุงโครงสร้างที่มีอายุการใช้งานมานาน มาดำเนินการเป็นพื้นที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ในการนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้เผยแพร่ความสำเร็จของโครงการที่ได้นำงานวิจัยและนวัตกรรมมาปรับปรุงอาคารเก่าที่มีอายุกว่า 30 ปี ให้กลายเป็นอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง
ผศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ จินต์จันทรวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า แนวคิดการปรับปรุงและการพัฒนาอาคารคาร์บอนต่ำเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เป็นศูนย์ เริ่มตั้งแต่กระบวนปรับปรุง การใช้วัสดุธรรมชาติอย่างไม้ยางพาราซึ่งโมเดลอาคารคาร์บอนต่ำ การตรวจวัดและคำนวณที่สามารถแสดงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 25 เท่า เมื่อเทียบกับกระบวนการปรับปรุงแบบเดิม โดยคาดว่าอาคารคาร์บอนต่ำจะสามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง 40 - 50 ปี ซึ่งเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่เป็นการแสดงถึงศักยภาพของงานวิจัยและนวัตกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยวิจัยและนวัตกรรม
ทั้งนี้ การแถลงข่าว NRCT Talk Phase 2 ครั้งนี้ เป็นการนำเสนอความสำเร็จของงานวิจัยสถาปัตยกรรมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาแนวทางการสร้างอาคารลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง มุ่งสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมือง
ที่มา: สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)