นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะสุขภาพช่องปาก ที่มีความสัมพันธ์ต่อความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตอย่างชัดเจนประเทศไทยถือเป็นผู้นำด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเป็นประเทศต้นแบบด้านสุขภาพช่องปาก โดยเฉพาะนโยบายการบูรณาการการดูแลสุขภาพช่องปากกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิ เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพช่องปากที่จำเป็น และสนับสนุนสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพช่องปากที่ดี ส่งผลให้นานาชาติมีความเชื่อมั่น และให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมสุขภาพช่องปากโลก ครั้งแรก ในวันที่ 26-29 พฤศจิกายนนี้
"รัฐบาลไทย โดย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้ง ภาคีเครือข่ายทั้ง 6 องค์กร จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนด้านสุขภาพช่องปากและด้านหลักประกันสุขภาพจาก 194 ประเทศทั่วโลก รวมถึงผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้อง การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และเครือข่ายวิชาชีพด้านสุขภาพช่องปาก เพื่อให้การประชุมครั้งนี้เกิดผลสำเร็จสูงสุด ในการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาสุขภาพช่องปากอย่างยั่งยืน ทั่วถึง และเท่าเทียม และเป็นเวทีให้ผู้รับผิดชอบงานด้านสุขภาพช่องปากและหลักประกันสุขภาพ รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปากแต่ละประเทศ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมเสนอนโยบาย เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพช่องปากให้ทั่วถึงและเท่าเทียม บรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการด้านสุขภาพช่องปากโลก พ.ศ. 2566-2573" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคในช่องปากเป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่พบได้มากที่สุด โดยส่งผลต่อประชากรเกือบ 3.5 พันล้านคนทั่วโลกหรือร้อยละ 45 ของประชากรโลก ซึ่งสูงกว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนยากจน กลุ่มเปราะบาง และผู้ด้อยโอกาส แสดงให้เห็นว่าประชาชนในหลายประเทศยังไม่สามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพช่องปากที่จำเป็นได้ สำหรับในประเทศไทย ข้อมูลจากการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติครั้งที่ 9 พ.ศ. 2566 พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของประชาชนประสบปัญหาโรคฟันผุและโรคปริทันต์ และประชาชนไทยมีฟันถาวรใช้งานเฉลี่ยเพียง 19.6 ซี่ต่อคน ในขณะที่ข้อมูลจากฐานข้อมูลสุขภาพชี้ให้เห็นว่ามีการเข้าถึงบริการทางทันตกรรมเพียง 15 ล้านคนเท่านั้น แม้ว่าโรคในช่องปากจะพบได้มาก แต่โรคในช่องปากส่วนใหญ่เป็นโรคที่สามารถป้องกันและรักษาได้ จึงเป็นความท้าทายด้านสาธารณสุขอย่างเร่งด่วนทั้งในระดับโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย
ทันตแพทย์อดิเรก ศรีวัฒนาวงศา นายกสมาคมทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะองค์กรที่ให้การส่งเสริมวิชาการ และงานวิจัยด้านทันตสุขภาพ เพื่อพัฒนาสุขภาพช่องปากของประชาชน จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดประชุมสุขภาพช่องปากโลก เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านสุขภาพช่องปากโลกให้บรรลุเป้าหมายในการสนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้านสุขภาพช่องปาก ร่วมพัฒนาระบบสุขภาพช่องปากที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพช่องปากที่มีคุณภาพและเท่าเทียม ซึ่งเป็นรากฐานของการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพช่องปากอย่างยั่งยืน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทันตแพทย์ ณัฐวุธ แก้วสุทธา คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประธานองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย เป็นศูนย์กลางของคณะทันตแพทยศาสตร์ เพื่อความร่วมมือ ประสานงาน และดาเนินการทางด้านวิชาการ และวิจัย บริหารการศึกษา หลักสูตร การเรียนการสอน ซึ่งในปัจจุบันประกอบด้วย 18 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ทั้งในภาครัฐและเอกชน เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านสุขภาพช่องปากในระดับนานาชาติ จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดประชุมสุขภาพช่องปากโลก เพื่อสนับสนุนการสร้างระบบสุขภาพช่องปากที่สอดคล้องกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงสร้าง และพัฒนาเครือข่ายในการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากประชาชนให้เกิดความยั่งยืนต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทันตแพทย์สุชิต พูลทอง นายกทันตแพทยสภา ในนามของราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะองค์กรที่ส่งเสริมการผลิตทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ด้านทันตกรรมแก่ประชาชนจึงได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดประชุมสุขภาพช่องปากโลก โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสุขภาพช่องปากในระดับนานาชาติ และพัฒนาทันตแพทย์ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการด้านสุขภาพช่องปากให้สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปากประชาชนได้ในระยะยาว
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรที่มีการดำเนินนโยบายประสานความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานและการอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล นอกเหนือจากการพัฒนางานของกิจการท่าเรือ การช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนก็เป็นสิ่งหนึ่งที่การท่าเรือให้ความสำคัญผ่านกิจกรรม/โครงการต่าง ๆ เสมอมาจึงเป็นโอกาสอันดีที่ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการจัดประชุมสุขภาพช่องปากโลก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพช่องปาก และสนับสนุนให้เกิดการมีสุขภาพช่องปากที่ดี อันจะส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
นางสาวจิตนันท์ เตชะศรินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ในฐานะหน่วยงานที่มีพันธกิจเพื่อส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติของโลก รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ให้การสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการจัดประชุมครั้งสำคัญระดับโลกครั้งนี้ ทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญในการที่ประเทศไทยจะได้ต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศสมาชิกจากทั่วโลก 194 ประเทศ ซึ่งรวมถึงระดับรัฐมนตรี ผู้แทนองค์การสหประชาชาติ และบุคคลสำคัญ ผู้ขับเคลื่อนนโยบายจากทั่วโลก และขอขอบคุณกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ได้เล็งเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติผ่านการจัดประชุมและนิทรรศการด้านการแพทย์และสุขภาพอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ มีพันธกิจในการจุดประกายกระตุ้น ประสานและเสริมพลัง บุคคล ชุมชน และองค์กรทุกภาคส่วนให้มีขีดความสามารถและสร้างสรรค์ระบบสังคมที่สนับสนุนต่อการมีสุขภาวะที่ดีได้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพช่องปาก จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในการจัดประชุมสุขภาพช่องปากโลกเพื่อสนับสนุนการสร้างภาคีเครือข่ายในระดับนานาชาติร่วมกันขับเคลื่อนกิจกรรมด้านสุขภาพช่องปากและร่วมสร้างสุขนิสัยในการดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพป้องกันการเกิดโรคในช่องปากและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน
ที่มา: กรมอนามัย