การรักษาด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ต่าง ๆ ยาและการผ่าตัด อาจช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรค แต่การดูแลให้ผู้ป่วยกลับคืนมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจำเป็นต้องใช้ศาสตร์แห่งการกายภาพบำบัด
ศาสตราจารย์ ดร.กภ.ประวิตร เจนวรรธนะกุล นายกสภากายภาพบำบัด และอาจารย์ประจำภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว โดยยกกรณีตัวอย่างการกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ว่า "แม้จะหายจากโรคโควิด-19 แต่ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเลยที่มีปัญหาสุขภาพอันเป็นผลพวงจากโรค เช่น ร่างกายอ่อนแรง เดินไม่มั่นคง หรือเหนื่อยง่าย กายภาพบำบัดจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ"
"คนส่วนใหญ่มักมองว่ากายภาพบำบัดเป็นเรื่องของการรักษาเมื่อเจ็บป่วย แต่แท้จริงแล้ว ศาสตร์นี้ครอบคลุมถึงการฟื้นฟูสุขภาพและฟื้นคืนสมรรถภาพของร่างกายให้กลับมาใกล้เคียงหรือดียิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ"
ยิ่งในยุคปัจจุบัน จำนวนประชากรสูงวัย การดำเนินชีวิตที่อาจส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังและโรคเชิงพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น ออฟฟิศซินโดรม โรคหลอดเลือดสมอง อุบัติเหตุ ฯลฯ ทำให้ศาสตร์กายภาพบำบัดทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ
"กายภาพบำบัดเป็นศาสตร์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นคำตอบสำหรับคนทุกวัย โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ผู้คนมองหาวิธีรักษาที่ปลอดภัยและไม่มีผลข้างเคียง" ศ.ดร.กภ.ประวิตรกล่าว
ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สภากายภาพบำบัด ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยสมาชิกสถาบันการศึกษาที่เปิดหลักสูตรด้านกายภาพบำบัดกว่า 17 แห่งในประเทศ ได้พัฒนาและผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านกายภาพบำบัดเป็นจำนวนมาก ส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมด้านกายภาพบำบัดต่าง ๆ ตลอดจนแนวทางและมาตรฐานการดูแลและควบคุมคุณภาพคลินิกกายภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม ทั้งนี้ ในวาระครบ 20 ปี สภากายภาพบำบัดจึงจัดงาน "การประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 2567" เพื่อนำเสนอความรู้และนวัตกรรมใหม่ล่าสุดด้านกายภาพบำบัด ระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2567 ณ สยามพารากอน ชั้น 5
"ในงาน เรานำเสนอความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านกายภาพบำบัดที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนให้มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของสภากายภาพบำบัดที่ต้องการพัฒนาวิชาชีพและเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสุขภาพของประชาชน" ศ.ดร.กภ.ประวิตรกล่าว
เทคโนโลยีกายภาพบำบัด: พลิกโฉมการดูแลสุขภาพแห่งอนาคต
ศ.ดร.กภ.ประวิตรอธิบายว่ากายภาพบำบัดเป็นวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการประเมิน วินิจฉัย และการบำบัดภาวะบกพร่องของร่างกายจากโรคหรือการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ โดยใช้วิธีการทางกายภาพ ไม่ใช่การรักษาด้วยยา การฉีดยา หรือการผ่าตัด
"ศาสตร์นี้จึงเน้นการฟื้นฟู ส่งเสริม และป้องกัน โดยใช้เครื่องมือและเทคนิคที่หลากหลาย เช่น การนวด การออกกำลังกายเฉพาะส่วน การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า หรือการใช้เครื่องอัลตราซาวด์เพื่อกระตุ้นเนื้อเยื่อ เป็นต้น"
ในงานการประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด จะมีการจัดแสดงนิทรรศการความรู้กายภาพบำบัดที่น่าสนใจและนวัตกรรมเพื่อยกระดับการดูแลและฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วย โดยไฮไลท์ของเทคโนโลยีกายภาพบำบัด อาทิ
- เซกาโมเดล (SEGA Model) เทคโนโลยีที่นำเลเซอร์กำลังสูงมาใช้ในการรักษาแผลเบาหวานที่เท้า ช่วยเร่งกระบวนการสมานแผล ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา และทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น นวัตกรรมนี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการใช้แสงเลเซอร์ในการกระตุ้นเซลล์เนื้อเยื่อ และเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในด้านการฟื้นฟูสุขภาพ
- Trang Model เป็นนวัตกรรมที่ออกแบบมาเพื่อฟื้นฟูการทรงตัวของผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะจากโรคหินปูนในหูชั้นในหลุด นวัตกรรมนี้เน้นการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างสมบูรณ์
- Dashboard สำหรับดูแลผู้ป่วย Intermediate Care (IMC) เป็นเครื่องมือที่ช่วยเก็บข้อมูลการรักษาผู้ป่วยตั้งแต่ในโรงพยาบาลจนถึงการดูแลที่บ้าน ช่วยให้ทีมรักษาสามารถติดตามผลและปรับแผนการฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เครื่องฝึกการทรงท่าและการเคลื่อนไหวแบบ Real-Time Feedback ที่สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวและแสดงผลแบบเรียลไทม์ ช่วยให้ผู้ป่วยฝึกฝนการทรงตัวในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการนำแอปพลิเคชันอย่าง Thalang Physical Fitness Test ซึ่งช่วยทดสอบและประเมินสมรรถภาพร่างกายของผู้ป่วยได้สะดวกและรวดเร็ว
กายภาพบำบัด : ตัวช่วยสุขภาพดี ไม่พึ่งยา
หลายกลุ่มอาการและโรคที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง กายภาพบำบัดเข้ามามีบทบาทในฐานะทางเลือกสำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เช่น อาการออฟฟิศซินโดรมที่พบในวัยทำงาน สามารถบรรเทาได้ด้วยการปรับท่าทางและส่งเสริมความสมดุลของกล้ามเนื้อ เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่สามารถฟื้นฟูการเคลื่อนไหวและกลับมาใช้ชีวิตด้วยโปรแกรมกายภาพบำบัดที่เหมาะสม
"กายภาพบำบัดไม่เพียงช่วยบรรเทาอาการ แต่ช่วยฟื้นฟูให้คนไข้กลับมาเดิน หรือทำกิจวัตรประจำวันได้ใกล้เคียงปกติที่สุด เราไม่ได้ต้องการแค่รักษา แต่ต้องการคืนคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์ให้กับผู้ป่วย"
ป้องกันก่อนป่วย กายภาพบำบัดเพื่อคนทุกวัย
ศ.ดร.กภ.ประวิตรกล่าวว่ากายภาพบำบัดไม่จำกัดเฉพาะในช่วงเวลาเจ็บป่วยหรือการฟื้นฟูเท่านั้น หากแต่ความรู้ความเข้าใจเรื่องกายภาพบำบัดจะช่วยให้คนทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเด็ก วัยทำงาน และผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข
"ไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาสุขภาพแล้วจึงนึกถึงกายภาพบำบัด แต่ศาสตร์นี้ช่วยให้เรารู้จักการเสริมสร้างและป้องกันปัญหาการเคลื่อนไหวที่อาจเกิดขึ้น"
ศ.ดร.กภ.ประวิตรกล่าวถึงความสำคัญของ "กายภาพบำบัดในชีวิตประจำวัน" ที่จะส่งเสริมสุขภาพให้กับคนแต่ละช่วงวัย ดังต่อไปนี้
วัยเด็ก กายภาพบำบัดช่วยเสริมพัฒนาการ เช่น การแก้ไขปัญหากระดูกสันหลังคด การเดินผิดปกติ หรือการเสริมกล้ามเนื้อเพื่อให้เด็กมีการเจริญเติบโตที่เหมาะสมและแข็งแรง วัยเด็กคือช่วงเวลาที่สามารถวางรากฐานสุขภาพให้ดีไปตลอดชีวิต
วัยทำงาน ความเครียดและท่าทางการนั่งทำงานที่ไม่ถูกต้องมักนำไปสู่อาการยอดฮิต อย่างออฟฟิศซินโดรม การบำบัดช่วยบรรเทาอาการปวด เสริมสร้างกล้ามเนื้อ และปรับท่าทางให้เหมาะสม เพื่อให้คนวัยนี้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ผู้สูงอายุ การเคลื่อนไหวที่มั่นคงคืออิสรภาพในการใช้ชีวิต กายภาพบำบัดช่วยป้องกันการล้ม เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และฟื้นฟูร่างกายหลังการเจ็บป่วย เช่น โรคหลอดเลือดสมองหรือกระดูกหัก เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
"สุขภาพดีไม่ได้เริ่มต้นที่โรงพยาบาล แต่มันเริ่มจากการดูแลตัวเองทุกวัน" ศ.ดร.กภ.ประวิตรกล่าวย้ำความสำคัญของกายภาพบำบัดในชีวิตประจำวันที่คนทุกช่วงวัยควรรู้และสามารถฝึกฝนทำเองได้
จุฬาฯ : ศูนย์กลางนวัตกรรมและการพัฒนากายภาพบำบัด
ในฐานะสมาชิกสภากายภาพบำบัดและหนึ่งในผู้นำในศาสตร์กายภาพบำบัดของประเทศไทย ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ได้ผลิตบุคลากรคุณภาพสูงและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการนี้มากว่า 30 ปี โดยมีหลักสูตรที่ครอบคลุมตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก โดยเฉพาะในระดับปริญญาโทที่แยกสาขาเฉพาะทาง เช่น ระบบกระดูก ระบบประสาท และการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้นักศึกษามีความเชี่ยวชาญในด้านที่สนใจ และยังมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกด้วย
"เรามุ่งเน้นการพัฒนานักกายภาพบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญ พร้อมรับมือกับความซับซ้อนของโรคและความต้องการของผู้ป่วยในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ เรายังมีงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สุขภาพของผู้ป่วย เช่น อุปกรณ์ฟื้นฟูการเคลื่อนไหวและโปรแกรมฟื้นฟูโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น"
นอกจากนี้ ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ยังเปิดคลินิกกายภาพบำบัดในมหาวิทยาลัยเพื่อให้บริการดูแลสุขภาพแก่ประชาชน อีกทั้งเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติที่ให้นิสิตเรียนรู้จากผู้ป่วยจริงเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การทำงานอย่างมืออาชีพ
"เราต้องการให้จุฬาฯ เป็นศูนย์กลางความรู้และนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงชีวิตผู้ป่วยทั้งในประเทศและระดับโลก"
ศ.ดร.กภ.ประวิตรกล่าวทิ้งท้ายเชิญชวนประชาชนที่สนใจมาร่วมสัมผัสนวัตกรรมและอนาคตของกายภาพบำบัด ในงาน "การประชุมวิชาการสภากายภาพบำบัด 2567" ระหว่างวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2567 ณ พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน
กิจกรรมภายในงาน มีการประชุมวิชาการและกิจกรรมครอบคลุมการดูแลสุขภาพทุกช่วงวัย ตั้งแต่วัยทำงาน ผู้สูงอายุ และเด็กและเยาวชน
คลินิกกายภาพบำบัดเฉพาะทาง: เปิดให้บริการตรวจสุขภาพและให้คำแนะนำโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ประกอบด้วย
- คลินิกตรวจประเมินและป้องกันการล้มในผู้สูงอายุ
- คลินิกเฉพาะทางสุขภาพผู้หญิง
- คลินิกรักษาอาการเวียนศีรษะ
- คลินิกตรวจรักษาอาการรู้คิดบกพร่อง
- คลินิกตรวจประเมินสมรรถภาพปอดและหัวใจ
- คลินิกคัดกรองและดูแลผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า
- คลินิกตรวจอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
- คลินิกตรวจพัฒนาการเด็ก
รายละเอียดกิจกรรมในงานเพิ่มเติมและลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่เว็บไซต์ : https://www.chula.ac.th/news/200109/
ที่มา: ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย