นายอาริส ดาคาเนย์ นักเศรษฐศาสตร์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันเฉียงใต้ ธนาคารเอชเอสบีซี เผยว่า จีดีพีของประเทศไทยในไตรมาส 3 ของปี 2567 เติบโตขึ้นจาก 2.2% ในไตรมาสก่อน เป็น 3.0% เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์มาก (HSBC: 2.7%, BBG: 2.4%) ด้านการปรับฐานตามฤดูกาล (seasonally adjusted basis) พบว่าเติบโตเพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ในขณะที่จีดีพีในช่วง 9 เดือนแรกสูงขึ้น 2.3% เทียบปีต่อปี ทั้งนี้ สำนักงานสถิติได้ปรับลดตัวเลขการเติบโตไตรมาส 2 ปี 2567 เป็น 2.2% (เดิม 2.3%) ส่วนสภาพัฒน์ฯ คาดการณ์การเติบโตทั้งปี 2568 อยู่ที่ 2.3% ถึง 3.3%
"การเติบโตของจีดีพีไทยสูงกว่าคาดการณ์อย่างมาก ต้องขอบคุณการเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งของการใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุน ทั้งนี้ เป็นผลจากการเร่งใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล เนื่องจากไม่มีการผ่านงบประมาณในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลจึงเร่งใช้จ่ายส่วนใหญ่ในไตรมาส 3 ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ ส่งผลให้การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น 25.9% เทียบปีต่อปี"
"ด้านการบริโภคภาคเอกชนก็ปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาส 3 แต่เราไม่คิดว่าเป็นผลจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในเฟสแรก เนื่องจากเงินถูกแจกจ่ายให้กับประชาชนจำนวน 14.5 ล้านคนในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน (ข้อมูลจาก Bangkok Post, 25 กันยายน 2567) แม้บางคนอาจใช้เงินที่ได้รับทันที แต่ผลกระทบของการแจกเงินน่าจะเห็นชัดเจนในไตรมาส 4 ปี 2567 มากกว่า ทั้งนี้ เราคาดว่าการเติบโตในไตรมาส 4 ปี 2567 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.7% เมื่อเทียบปีต่อปี" นายอาริส กล่าวต่อ
ด้วยข้อมูลข้างต้นนี้ เราคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะสามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนธันวาคมได้ อันจะช่วยสนับสนุนไม่เพียงการเติบโต แต่ยังนับเป็นการเติบโตที่แข็งแกร่งอีกด้วย
งบประมาณปี 2568 ผ่านตามกำหนดเวลาและเป็นงบประมาณแบบขยายตัวเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ อันรวมถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในเฟสถัดไป เราจึงคาดว่าการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2568 จะอยู่ที่ 4.6% ของจีดีพี นี่ไม่เพียงช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ยังทำให้แนวโน้มที่ ธปท. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีน้อยลง เนื่องจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลังพร้อมกันอาจเพิ่มความเสี่ยงด้านหนี้ครัวเรือน
เกี่ยวกับประเด็นข้างต้น ความไม่แน่นอนด้านนโยบายเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลลดลงมาก ส่งผลให้บริษัทต่างชาติสามารถวางแผนการลงทุนล่วงหน้าและกลับมาลงทุนในไทยอีกครั้ง อันจะช่วยเสริมการเติบโตของประเทศ
เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ บรรเทาความกังวลเรื่องความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องตระหนักด้วยว่าการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นเหตุผลที่นำไปสู่การเรียกร้องให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา (จากบทวิจัย 'Surprise but hawkish out', 16 ตุลาคม 2567)
ในขณะที่การขับเคลื่อนของมาตรการด้านการคลังกำลังเร่งทะยาน เราเชื่อว่าคนจะหันกลับมาจับจ้องที่ภาคการท่องเที่ยวอีกครั้ง เหตุจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยต่ำกว่าคาดการณ์ในไตรมาส 3 ปี 2567 โดยการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนลดลง นี่อาจเป็นเหตุผลที่สภาพัฒน์ฯ ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวปี 2567 เหลือ 36 ล้านคน (เดิม 36.5 ล้านคน) ทั้งนี้ การลดลงเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจเป็นอุปสรรคต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและอาจนำไปสู่การเรียกร้องให้ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้
ที่มา: ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย