ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้บรรยายพิเศษมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ธุรกิจประกันภัยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังนั้น ธุรกิจประกันภัยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในการยกระดับการประกันชีวิตและสุขภาพให้มีประสิทธิภาพและสร้างความยั่งยืนในระยะยาว ทั้งนี้หากมีการนำเอาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ร่วมกันเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลในเรื่องต่าง ๆ ก็ทำให้เกิดการตั้งราคาเบี้ยประกันภัยมีความเหมาะสม การพัฒนาแผนความคุ้มครองที่สนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และประชาชนสามารถใช้เป็นข้อมูลในตัดสินใจเลือกซื้อประกันชีวิตและสุขภาพ รวมไปถึงการนำข้อมูลจาก Smart Watch หรืออุปกรณ์ที่สามารถติดตามการออกกำลังกายและข้อมูลสุขภาพของลูกค้ามาใช้ในการพิจารณาให้ส่วนลดเบี้ยประกันภัย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้และช่วยให้ภาคธุรกิจได้รับข้อมูลที่ทันสมัยของแต่ละบุคคลในการนำไปประเมินความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ การเติบโตของธุรกิจประกันภัย จำเป็นต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากเทคโนโลยี สถิติข้อมูล และงานวิจัยในเชิงลึกและนำไปใช้ต่อยอดได้ จึงเป็นที่มาของการยกระดับสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สู่การเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการประกันภัย (Research Development and Innovation Center) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางรวบรวมองค์ความรู้ และวิทยาการด้านการประกันภัยในระดับสากล รวมถึงขับเคลื่อนการพัฒนาผลงานวิจัย และทดลองนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในธุรกิจประกันภัยเพื่อให้สามารถนำไปต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยให้เติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ รวมถึงขับเคลื่อนและพัฒนาให้สำนักงาน คปภ. เป็นองค์กรที่ทันสมัยที่สุด โดยศูนย์วิจัยแห่งนี้จะเป็นสถาบันชั้นนำในการพัฒนาบุคลากรในธุรกิจประกันภัย รวมถึงผู้นำและบุคลากรของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งเรื่องความรู้ด้านการประกันชีวิตและประกันวินาศภัย การนำประกันภัยไปใช้ในการบริหารความเสี่ยง การบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ทิศทางในด้านกำกับดูแล และการดำเนินธุรกิจประกันภัย ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมของโลก ในปีหน้าจะมีการพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติม สำหรับทั้งบุคลากรของธุรกิจประกันภัยและเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. รวมถึงหลักสูตรนานาชาติสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลและภาคธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน อีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของศูนย์วิจัยแห่งนี้ ก็คือ การเสริมสร้างความร่วมมือและเครือข่ายความรู้และการแลกเปลี่ยนวิทยาการใหม่ ๆ นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านการประกันภัย ระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล ผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคลากรด้านการประกันภัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เสนอผลงานวิจัยและเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้รับข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมประกันภัย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในช่วงปลายปีนี้ สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย จะร่วมกันจัดอีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญ ก็คือ งาน Insure Mall สรรพสินค้าออนไลน์รวบรวมผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "Insure Mall ครบทุกเรื่องประกัน จบทุกความต้องการ" โดย Insure Mall จะเป็นช่องทางที่สำคัญในการให้บริการประชาชนผู้สนใจประกันภัย สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้อย่างครบถ้วนในช่องทางเดียว สร้างประสบการณ์ที่ดีในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัย สามารถเลือกซื้อประกันภัยจากบริษัทประกันภัย บริษัทนายหน้าประกันภัย และธนาคารที่คัดสรรแบบประกันภัยที่มีความเหมาะสมต่อตัวท่านและครอบครัว ในรูปแบบออนไลน์ได้ตลอดเวลา ตลอดจนเป็นแหล่งรวมความรู้พื้นฐานด้านการประกันภัยสำหรับประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจและการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาสู่ประเทศไทย สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน โดยจะมีกิจกรรมเปิดตัวโครงการซื้อประกันภัย รับส่วนลดสูงสุดถึง 30% และร่วมลุ้นรับของรางวัลมากมาย สามารถติดตามได้ทาง www.insuremallthailand.com
นอกจากนั้น ภายในงานยังมีการเสวนาหัวข้อ "Future Landscape in Digital Insurance" โดย ดร.ชญานิน เกิดผลงาม รองเลขาธิการ ด้านกลยุทธ์และเทคโนโลยี สำนักงาน คปภ. ดร.จุฑาทอง จารุมิลินท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง และนายสัมฤทธิ์ ตรงตรานนท์ ผู้อำนวยการสายงาน บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ต่อจากนั้นเป็นการบรรยาย หัวข้อ "Innovating for Tomorrow: The Future of CX & Digital Workbench in Insurance" โดย Mr. Eugene Macey, Partner, PwC SEA & Global Insurance Customer & Digital Leader และหัวข้อ "Transforming Healthcare and Insurance with AI" โดย นพ.เดโชวัต พรมดา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท Healthtag จำกัด และยังมีการมอบรางวัลผลงานวิชาการของนักศึกษาหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 12 จำนวน 6 ผลงานได้แก่ รางวัลดีเด่น รางวัลดี และรางวัลชมเชย ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอผลงานที่ได้รับรางวัลดีเด่น ได้แก่ กลุ่ม GP 3 การพัฒนา Application เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในกรมธรรม์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ อย่างครบถ้วน : กรณีประกันภัยสุขภาพ และรางวัลดี ได้แก่ GP 2 การพัฒนากรอบธรรมาภิบาล AI สำหรับธุรกิจประกันภัย (AI Governance Framework for Thai Insurance Industry) อีกด้วย
"ในโอกาสนี้ ผมขอแสดงความยินดีกับผลงานวิชาการที่ได้รับรางวัล รวมทั้งขอแสดงความชื่นชมผลงานวิชาการของทุกกลุ่ม ขอยอมรับว่าผลงานวิชาการของทุกกลุ่มในปีนี้น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการต่อยอดและพัฒนาระบบประกันภัยเป็นอย่างมาก ความตั้งใจของทุกท่านมีส่วนในการยกระดับคุณภาพผลงานวิจัยและการพัฒนาธุรกิจประกันภัยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป" เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย