สำหรับข้อตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านคาร์บอนเครดิตภายใต้ข้อ 6 ของความตกลงปารีส มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นทั้งในส่วนข้อมูลที่ประเทศต้องรายงาน ระบบทะเบียน การให้อนุญาตและการเปลี่ยนแปลงการให้อนุญาต และการรับรองแนวทางการพัฒนาระเบียบวิธีของ Article 6.4 ซึ่งจะทำให้ประเทศปรับปรุงและกำหนดแนวทางในประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
อีกทั้ง นานาชาติได้มีข้อตัดสินใจที่จะกำหนดตัวชี้วัดด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลกให้แล้วเสร็จ เพื่อนำไปรับรองในการประชุม COP 30 ครั้งหน้า ณ ประเทศบราซิล ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานในระดับโลกเป็นรูปธรรมและเป็นเอกภาพ .ถึงแม้ว่าผลลัพธ์จาก COP29 อาจยังไม่สมบูรณ์แบบสำหรับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกเดือด แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันในการรักษาเป้าหมายการจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและลดความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี
นอกจากนี้ ตลอดห้วงการประชุม COP 29 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภาคีเครือข่าย ได้จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมคู่ขนาน ณ Thailand Pavilion ซึ่งได้ปิดเวทีเสวนา เป็นวันสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 โดยมีนักวิชาการ ภาครัฐ องค์กรเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และเยาวชน มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ ด้วยประเด็นการเสวนา กว่า 30 หัวข้อ อาทิ เยาวชนกับการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจสีเขียว นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการลดและกักเก็บคาร์บอน การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านพลังงาน รวมถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสาขาต่างๆ โดยมีผู้สนใจจากนานาประเทศ เข้าร่วมชมนิทรรศการและร่วมกิจกรรม รวมกว่า 7,000 คน
ที่มา: กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม