ตรวจเข้มอากาศทั่วไทยด้วยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศแบบอัตโนมัติ รายงานข้อมูลต่อเนื่องตลอด 24 ชม.

อังคาร ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ ๑๕:๐๓
ในวันที่อากาศไม่เป็นใจ อะไร ๆ ก็ดูหมองมัวเต็มไปด้วยหมอกควันและฝุ่นละออง นับเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนโดยตรง ซึ่งในรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยปี 2566 เห็นได้ชัดว่าสถานการณ์คุณภาพอากาศในภาพรวมของประเทศมีปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 และปริมาณฝุ่นละออง PM10 เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และในหลายพื้นที่มีปริมาณฝุ่นละอองและก๊าซโอโซนเกินค่ามาตรฐาน เช่นที่ กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคเหนือ และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น การติดตาม ตรวจสอบคุณภาพอากาศ และเฝ้าระวังสถานการณ์มลพิษทางอากาศของประเทศ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการได้มาซึ่งข้อมูลสถานการณ์คุณภาพอากาศ จำเป็นต้องมีการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ด้วยวิธีการและหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ และน่าเชื่อถือ
ตรวจเข้มอากาศทั่วไทยด้วยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศแบบอัตโนมัติ รายงานข้อมูลต่อเนื่องตลอด 24 ชม.

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้จัดตั้งเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในบรรยากาศ ด้วยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศแบบอัตโนมัติ โดยใช้วิธีการตรวจวัดตามมาตรฐานสากล และเป็นไปตามข้อกำหนดของประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และประกาศกรมควบคุมมลพิษ โดยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศแบบอัตโนมัติของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งสิ้น 96 สถานี ครอบคลุม 65 จังหวัด และกรมควบคุมมลพิษ มีเป้าหมายจะติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศให้ครอบคลุมทุกจังหวัดของประเทศไทย โดย 1 จังหวัด ต้องมีสถานีตรวจวัดฯ อย่างน้อย 1 สถานี เพื่อให้มีข้อมูลสถานการณ์คุณภาพอากาศให้ครอบคลุมทั่วประเทศ สำหรับการกำหนดจุดตรวจวัดคุณภาพอากาศในบรรยากาศ จะแบ่งออกเป็น 2 จุดหลักๆ ได้แก่ 1) จุดตรวจวัดสำหรับพื้นที่ทั่วไป ซึ่งจะอยู่ห่างจากขอบถนนหลักประมาณ 50 เมตร มีวัตถุประสงค์เพื่อวัดปริมาณสารมลพิษทางอากาศที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ในบริเวณชุมชน และที่พักอาศัยเป็นหลัก และ 2) จุดตรวจวัดสำหรับพื้นที่ริมถนน ซึ่งจะอยู่ห่างจากขอบถนนหลักที่มีการจราจรหนาแน่นไม่เกิน 10 เมตร มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจวัดปริมาณของสารมลพิษทางอากาศในพื้นที่ริมถนนที่เกิดจากการจราจรเป็นหลัก สำหรับสารมลพิษทางอากาศที่ทำการตรวจวัดด้วยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติของกรมควบคุมมลพิษนั้น ประกอบด้วย ฝุ่นละออง PM2.5 ฝุ่นละออง PM10 ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซโอโซน และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ นอกจากนี้ยังมีการตรวจวัดสภาพอากาศทางอุตุนิยมวิทยาในระดับผิวพื้น เพื่อใช้สำหรับเป็นข้อมูลประกอบการประเมินสถานการณ์คุณภาพอากาศเพิ่มเติม ได้แก่ ความเร็วลม ทิศทางลม อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ความดันบรรยากาศ และปริมาณน้ำฝน

ข้อมูลผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศดังกล่าว จะแสดงข้อมูลแบบ Real Time บนเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Air4Thai เพื่อให้ประชาชนและผู้ที่สนใจสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังถูกนำไปใช้สำหรับประเมินระดับความรุนแรงของสภาพปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้น อีกทั้งใช้ประเมินการได้รับสัมผัสมลพิษทางอากาศและการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน การวิเคราะห์และการประเมินผลกระทบของการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ รวมถึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนการนำไปใช้ประกอบการกำหนดมาตรการและนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศระดับประเทศ พร้อมทั้งขับเคลื่อนการดำเนินงานแก้ปัญหามลพิษในระดับพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุมลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐาน ประชาชนจะสามารถรับรู้มลพิษได้ด้วยตนเอง เช่น กลิ่นไม่พึงประสงค์ การหายใจอึดอัด ความระคายเคือง เป็นต้น สามารถแจ้งหรือร้องเรียนผ่านสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด หรือติดต่อกรมควบคุมมลพิษ ได้ที่สายด่วน 1650 เพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไป

ที่มา: ซี.เอ.อินโฟ มีเดีย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๔๑ องค์การอนามัยโลกจับมือประเทศไทย และ 194 ประเทศ เร่งสร้างฉันทมติดันความเสมอภาคสุขภาพช่องปากเป็นวาระโลก
๑๖:๔๔ กรมอนามัยลงพื้นที่จังหวัดสงขลา มอบรางวัลเชิดชูเกียรติเมืองสุขภาพดีระดับประเทศ และรางวัลเครือข่ายเมืองสุขภาพดีระดับภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก
๑๖:๐๑ EPG มั่นใจยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นในครึ่งหลังของปีบัญชี 67/68 (ต.ค.67 - มี.ค.68) เติบโตดีตามเป้าหมาย เตรียมจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 6 สตางค์ 9
๑๖:๒๔ 51Talk ส่งเด็กไทยเข้าร่วม COP29 การประชุมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บทพิสูจน์การสนับสนุนเยาวชนก้าวสู่เวทีระดับโลก
๑๖:๔๘ ORN เผยโค้งสุดท้ายปี 67 ฟอร์มดี โตต่อเนื่อง ลุยเปิด 3 โครงการใหม่บ้าน-คอนโดฯ มูลค่ารวม 3,070 ล้านบาท
๑๖:๓๓ Dog's Dream คอมมูนิตี้สนามสัตว์เลี้ยงสีเขียว ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
๑๖:๑๔ ฟูจิฟิล์ม บิสซิเนส อินโนเวชั่น ชูกลยุทธ์ Make a Leap to the New Stage ตอกย้ำพันธกิจขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม
๑๕:๔๓ กรุงศรี ขับเคลื่อนกลยุทธ์ GO ASEAN with krungsri ผสานความแข็งแกร่งและร่วมมือในเครือกรุงศรี MUFG และพันธมิตร
๑๕:๓๔ เผยสีสันแห่งการเฉลิมฉลองช่วงสิ้นปี ผ่านกระเช้าของขวัญจากโรงแรมเจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ
๑๕:๔๗ Netflix ส่งหนังไทยคว้าชัยระดับโลก! ออกแบบ-ชุติมณฑน์ คว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม บนเวที International Emmy Awards ครั้งที่ 52 จากผลงานเรื่อง HUNGER คนหิว