นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ บริษัท แซง-โกแบ็ง เวเบอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำและผู้ผลิตมอร์ตาร์สำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง ในปัจจุบันได้มีการผลิตวัสดุงานก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ กาวซีเมนต์ปูกระเบื้อง กาวยาแนวกระเบื้อง ซีเมนต์ผสมสำเร็จกันรั่วซึม น้ำยาทาผนังและเสาคอนกรีต ซีเมนต์สำเร็จรูป ปูนก่ออิฐมวลเบา กาวตะปู เป็นต้น จึงต้องการให้แรงงานช่างก่อสร้างของไทยได้พัฒนาศักยภาพและหันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยในปีงบประมาณ 2568 มีแผนดำเนินการในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน และพระนครศรีอยุธยา จัดฝึกอบรมหลักสูตรยกระดับฝีมือ สาขาการปูกระเบื้อง ระยะเวลาการฝึก 12 ชั่วโมง และสาขาการก่ออิฐมวลเบา และทำกันซึมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ระยะเวลาการฝึก 6 ชั่วโมง ทั้งนี้ได้ใช้สถานที่ของวัด หรือโรงเรียน หรือโรงพยาบาลที่ต้องการปูกระเบื้องและก่ออิฐมวลเบา (พื้นที่ปูกระเบื้องไม่เกิน 50 ตารางเมตร) เพื่อเป็นการสร้างประสบการณ์จริงในการทำงานของผู้เข้ารับการฝึก และสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนอีกด้วย โดยบริษัท แซง-โกแบ็ง เวเบอร์ จำกัดสนับสนุนวิทยากร วัสดุฝึกอบรม ในกลุ่มผลิตภัณฑ์กระเบื้องไม่เกิน 50 ตารางเมตร ปูนกาวและยาแนว ปูนก่ออิฐมวลเบา และอิฐมวลเบา นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนงบประมาณเป็นค่าอาหารกลางวัน ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม และเอกสารประกอบการฝึกอบรมอีกด้วย
นายเดชา กล่าวต่อไปว่า ทั้ง 2 หน่วยงานมีความร่วมมือกันมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 โดยได้ร่วมกันพัฒนาแรงงานช่างก่อสร้างมาแล้วมากมาย ซึ่งเป็นช่างปูกระเบื้อง จำนวน 6,894 คน และช่างก่ออิฐมวลเบา และทำกันซึม จำนวน 3,993 คน ในนามของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ต้องขอขอบคุณ บริษัท แซง - โกแบ็ง เวเบอร์ จำกัด เป็นอย่างยิ่ง ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังแรงงานของประเทศ ซึ่งช่างในสาขางานก่อสร้างยังเป็นที่ต้องการของตลาด อีกทั้งช่างฝีมือด้านงานผนังและปูพื้นยังสามารถทำเป็นอาชีพส่วนตัว หรือรับเหมางานได้ ทำให้มีรายได้สูงขึ้น และหากช่างหันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ก็จะส่งผลดีต่อผู้รับบริการและช่วยลดภาวะโลกร้อนด้วย
ช่างที่สนใจฝึกอบรมสามารถสมัครตั้งแต่บัดนี้ จนถึงเดือนพฤษภาคม 2568 โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท แซง - โกแบ็ง เวเบอร์ จำกัด คุณคมสันต์ อั้นทรัพย์ เบอร์โทรศัพท์ 0 2245 8777 , 08 6936 0598 หรือสอบถามกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน และพระนครศรีอยุธยา หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 ได้อีกทางหนึ่ง นายเดชา กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: กองสื่อสารองค์กร กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน